30 มีนาคม 2560

จากเมืองลังกาสุกะ...สู่เมืองปัตตานี ตอนที่ 3


…..เมืองโบราณบนแหลมมลายู ที่ปรากฏชื่ออยู่ในศิลาจารึกและจดหมายเหตุชาวจีน อินเดีย และชวา ได้แก่

…..จารึกเมืองตันโจ ของพระเจ้าราเชนทร์ ระหว่างปี พ.ศ.๑๕๗๓-๑๕๗๔ มีชื่อเมือง ที่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออก ของแหลมมลายู ที่พระองค์ อ้างว่า ได้ส่งกองทัพเรือมายึดครองไว้ได้นานถึง ๒๐ ปี คือ เมืองไอลังคโสกะ (ลังกาสุกะ) เมืองตามพรลึงค์ (นครศรีธรรมราช)

…..หนังสือ จู-ฝาน-ชี ของเจาจูกัว ก็ได้เขียนเล่าเรื่องเมืองขึ้นของ
อาณาจักรศรีวิชัยไว้ว่า ในปี พ.ศ.๑๗๖๘ ศรีวิชัยมีเมืองขึ้น ๑๕ เมือง เฉพาะที่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแหลมมลายู ได้แก่ ปอง-ฟอง (ปาหัง) เต็งยานอง (ตรังกานู) หลังยาสิเกีย (ลังกาสุกะ) กิลันตัน (กลันตัน) ตันมาหลิง (นครศรีธรรมราช)

…..หนังสือ เนเกอราเกอรตาคามา ของพระปัญจา นักบวชในลัทธิศิวพุทธแห่งราชอาณาจักรมัชฌปาหิต แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๘ ก็อ้างว่ากองทัพเรือของชวา สามารถเข้ายึดครองเมืองต่างๆ บนแหลมมลายูไว้ได้ คือ ปาหัง ตรังกานู กลันตัน และลังกาสุกะ ในปี พ.ศ.๑๘๓๕

…..จากเอกสารดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ไม่มีชื่อเมืองปัตตานีอยู่เลย ตามประวัติศาสตร์เมืองปัตตานี ฉบับของนายหะยีหวันอาซัน กล่าวว่า เมืองปัตตานี เพิ่งสร้างขึ้นในสมัยของพยาอินทิรา ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๑๒ ถึงปี พ.ศ.๒๐๕๗ มีนามว่า "ปัตตานีดารัสสลาม" (นครแห่งสันติ)

.คำ ปัตตานี นี้ เลือนมาจากคำในภาษาสันสกฤต คือ "ปตฺตน" แปลว่า "กรุง, ธานี, นคร, เมือง" ดังจะเห็นได้จากชื่อเมืองหนึ่งของอินเดียภาคใต้ ถิ่นฐานของโจฬะ ที่เคยมายึดครองเมืองลังกาสุกะ คือ เมือง "นาคปตฺตน"

…..สาเหตุที่พญาอินทิรา ย้ายเมืองโกตามหลิฆัยหรือลังกาสุกะ มาสร้างเมืองปัตตานีขึ้นใหม่ ณ บริเวณสันทราย ตำบลตันหยงลุโละ ตำบลบานา ท้องที่อำเภอเมืองปัตตานีในปัจจุบัน จะนำมากล่าวในตอนหลัง

…..ดังนั้น ชื่อของเมืองลังกาสุกะ จึงไม่ปรากฏในเอกสารของชนชาติต่างๆ ที่เดินทางเข้ามาค้าขายในแหลมมลายู หลังจากปี พ.ศ.๒๐๕๔ แต่ปรากฏ ชื่อเมืองปัตตานี หรือตานี ขึ้นมาแทนที่ ดังจะเห็นได้จากเอกสารของพวกพ่อค้าชาวโปรตุเกส ฮอลันดา และอังกฤษ แม่แต่เอกสาร ชาวจีน ระยะหลัง เช่น เรื่องอาณาจักรทางทะเลของปิงหนาน ก็ได้กล่าวถึงเมืองปัตตานีว่า

…..อาณาจักรต้าหนี "ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสงขลา การเดินทางจากสงขลาทางบกใช้เวลา ๕-๖ วัน ทางน้ำ โดยลมมรสุม ประมาณวันเศษก็ถึง ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาทอดเป็นแนวยาวติดต่อกัน อาณาเขตหลายร้อยลี้ จารีตประเพณี และทรัพยากร มีความคล้ายคลึง กับสงขลา ประชากรมีจำนวนน้อย แต่อุปนิสัยดุร้าย ภูเขาที่นี่มีทองคำมาก อาณาจักรนี้ขึ้นกับสยาม แต่ละปี ต้องถวาย เครื่องราชบรรณาการด้วยทองคำ ๓๐ ชั่ง"

…..เรื่องราวของราชฑูต กษัตริย์เมืองลังกาสุกะ ต่อจากรัชสมัยพระเจ้าภัคทัตต์ ปรากฏในจดหมายเหตุจีนต่อมาว่า ในปี พ.ศ.๑๐๖๖-๑๐๗๔ และ พ.ศ.๑๑๑๑ กษัตริย์ลังกาสุกะ ได้ส่งฑูตไปสู่ราชสำนักจีนอีก แต่จีนก็มิได้ให้รายละเอียดอย่างเช่นคราวราชฑูตอชิตะ

…..ครั้นถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ รัฐลังกาสุกะก็เริ่มเสื่อมอำนาจลง จนกระทั่ง ตกไปเป็นเมืองขึ้น ของกษัตริย์กรุงศรีวิชัย และกษัตริย์โจฬะ แห่งอินเดียใต้ ดังปรากฏหลักฐานจารึกที่เมืองตันจอร์ ระหว่างปี พ.ศ.๑๕๗๓-๑๕๙๕ กล่าวว่า

….."พระเจ้าราเชนทร์ส่งทัพเรือไปกลางทะเล และจับพระเจ้าสังกรมวิชยค์ตุงคะวรมันกษัตริย์ แห่งคะดะรัม (เกดาห์) และยึดได้ รัฐปันนาย ที่มีน้ำเต็มเปี่ยม ในอ่างเก็บน้ำ รัฐมลายูโบราณที่มีภูเขาเป็นป้อมปราการล้อมรอบ รัฐมะยิรูดิงคัม ซึ่งล้อมรอบ ไปด้วยทะเล จนดูประหนึ่ง เป็นคูเมือง รัฐไอลังคโสกะ (ลังกาสุกะ) ซึ่งเก่งกล้าในการรบ เมืองบัปปะปะลัม (ปาเล็มบัง) ที่มีน้ำลึกเป็นแนวป้องกัน เมืองเมวิลิมบันกัม ที่มีกำแพงเมือง สง่างาม เมืองวาไลยคุรุที่มีวิไลยพันคุรุ เมืองดาไลยตักโคลัมที่ได้รับการสรรเสริญจากคนสำคัญๆ ว่าเชี่ยวชาญ ทางวิทยาการ รัฐตามพรลึงค์ (นครศรีธรรมราช) ที่ใหญ่ยิ่งสามารถในการรบ เมืองอิลามุรีเดแอมที่ดุเดือดในการรบ เมืองนักกะวารัม ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งมีสวนใหญ่โต มีน้ำผึ้งมาก"

….. หลังจากตีเมืองเหล่านี้ได้แล้ว พระเจ้าราเชนทร์โจฬะ ได้ส่งกองทหารเข้ามายึดครองหัวเมืองในแหลมไทย-มลายูไว้เป็นเวลา ๒๐ ปี ต่อมารัฐศรีวิชัยผู้มีกำลังนาวิกภาพเข้มแข็งก็ได้มาผนวกเอารัฐลังกาสุกะเข้าไปไว้ในอำนาจของตน พร้อมด้วยรัฐต่างๆ อีก ๑๕ รัฐ ตามที่ชาวจีน ชื่อ เจาจูกัว เขียนเล่าไว้ในหนังสือชูผันจิ ดังต่อไปนี้ คือ...

๑. รัฐ เป็ง-โพ็ง (ปอง-ฟอง หรือ ปาหัง?)
๒. รัฐ เต็ง-ยา-น็อง (ตรังกานู?)
๓. รัฐ ลิง-ยา-ลิงเกีย (ลังกาสุกะ)
๔. รัฐ กิ-ลัน-ตัน (กลันตัน)
๕. รัฐ โฟ-โล-ตัน
๖. รัฐ ยิ-โล-ติง
๗. รัฐ เซียม-มาย
๘. รัฐ ปะ-ตา
๙. รัฐ ตัม-มา-หลิง (นครศรีธรรมราช)
๑๐. รัฐ เกีย-โล-หิ (ครหิ-ไชยา)
๑๑. รัฐ ปา-ลิ-ฟอง (ปาเล็มปัง)
๑๒. รัฐ สิน-โค (สุนดาในเกาะชวา)
๑๓. รัฐ เกียน-ปาย
๑๔. รัฐ ลัน-วู-ลิ (ลามูริในเกาะสุมาตรา)
๑๕. รัฐ ซี-ลัน (ซีลอนหรือลังกา)

…..ต่อมาราชอาณาจักรศรีวิชัยได้แตกสลายตัวลง ดี.จี.อี.ฮอลล์ว่า เนื่องจากถูก "พวกไทย ทางแม่น้ำ เจ้าพระยา ฝ่ายเหนือ และอาณาจักร สิงหัดส่าหรี ในชะวาตะวันตกอีกฝ่ายหนึ่ง" โจมตี ทำให้อิทธิพลของกษัตริย์ศรีวิชัยบนแหลมไทย-มลายูต้องเสื่อมอำนาจลง ประการสุดท้าย เกิดจากชาวจีน มีความรู้ ในเรื่องการเดินเรือ และการต่อเรือสำเภาที่มีคุณภาพดี สามารถออกทำการค้าขายกับเมืองต่างๆ ตามหมู่เกาะชวา และติดต่อขายกับพ่อค้าอาหรับ เปอร์เซีย และอินเดียโดยตรง ไม่ต้องผ่านเมืองท่าที่อยู่ในอาณัติของศรีวิชัย ซึ่งเคยเป็น ศูนย์กลางค้า ระหว่าง โลกตะวันตก กับโลกตะวันออก อีกต่อไป ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของศรีวิชัยต้องทะลายลง

ที่มา : หนังสือ ประวัติเมืองลังกาสุกะ - เมืองปัตตานี /ผู้เขียน อนันต์ วัฒนานิกร

***อ่านย้อนหลัง***
จากลังกาสุกะมาเป็นเมือง ปัตตานี ตอน 1
จากลังกาสุกะมาเป็นเมือง ปัตตานี ตอน 2

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น