29 มีนาคม 2560

จากเมืองลังกาสุกะมาเป็น...เมืองปัตตานี ตอนที่ 2


….ปัจจุบัน การทำนาเกลือ ของชาวเมืองปัตตานี ก็ยังคงได้รับการสืบทอด เป็นอาชีพของชาวบ้านตำบลตันหยงลุโละ ท้องที่อำเภอเมืองปัตตานี

….เมืองลังกาสุกะและเมืองตามพรลึงค์ หรือเมืองนครศรีธรรมราช เป็นบ้านเมืองในยุคเดียวกัน เมืองทั้งสองเคยมีความเจริญรุ่งเรือง และประสบ ภัยพิบัติ จากสงคราม จนต้องตกเป็นเมืองขึ้น ของอาณาจักรศรีวิชัย และของพระเจ้าราเชนทร์ แห่งโจฬะประเทศมาแล้วด้วยกัน เมืองทั้งสอง จึงมีวัฒนธรรม ร่วมกัน หลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งในด้านศาสนา ความเชื่อ โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนา ก่อนที่ จะรับ ลัทธิ ลังกาวงศ์ เมืองนครศรีธรรมราชมีพระเจดีย์ที่มีรูปลักษณะและนามใช้เรียกขานเช่นเดียวกัน ดังปรากฏ หลักฐาน อยู่ในตำนาน พระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ตอนหนึ่งว่า "พระยาศรีธรรมโศกราช ดำริในพระทัยว่า ตัวเรานี้ได้สร้างพระเจดีย์วิหาร และก่อพระพุทธรูป ปลูกไม้พระศรีมหาโพธิ์ และได้ยกพระมาลิกะเจดีย์ที่เมืองอินทปัต และทำประตู ๒ ประตู จ้างคนทำวันละพันตำลึงทอง และพระบรรทม องค์หนึ่ง ทำด้วยสัมฤทธิ์ยาว ๔ เส้น พระเจดีย์สูงสุดหมอก อิฐยาว ๕ วา หนาวา ๑ พระระเบียงสูง ๑๕ วา ระเบียงสูงเส้น ๑ หน้าเสา ๙ ศอก แปย่อมหิน พระนั่งย่อมสัมฤทธิ์ สูงองค์ละ ๑๕ วา ตะกั่วดาด ท้องพระระเบียงหนา ๖ นิ้ว บนปรางกว้าง ๒ เส้น แม่กะไดเหล็กใหญ่ ๔ กำ ลูก ๓ กำ ขึ้นถึงปรางบน หงษ์ทอง ๔ ตัว ย่อมทองเนื้อ แล้วมาทำมาลิกะเจดีย์ ปลูกพระศรีมหาโพธิ์ และจำเริญ พระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช"

….คำ "พระมาลิกะเจดีย์" ของเมืองนครศรีธรรมราชนี้ เป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งของเมืองปัตตานีในอดีตคือ เมืองโกตามหลิฆัย (โกตา = เมือง หรือ ป้อมปราการ มลิฆัย (maligei) = เจดีย์หรือปราสาทราชวัง) เป็นคำยกย่อง สรรเสริญ บ้านเมือง สมัยนั้นว่า เจริญรุ่งเรือง ด้วยศิลปะ สถาปัตยกรรม ทางการสร้างสรรค์พระมหาเจดีย์ และปราสาทราชวัง ดุจดังที่ศรีปราชญ์ กล่าวไว้ในโคลง ที่ท่านเขียนขึ้น เพื่อเชิดชูเกียรติ กรุงศรีอยุธยาว่า

อยุธยายศยิ่งฟ้า ลงดิน แลฤา
อำนาจบุญเพรงพระ ก่อเกื้อ
เจดีย์ละอออินทร์ ปราสาท
ในทาบทองแล้วเนื้อ นอกโสม

….คำ มลิกะ นั้น ทางปัตตานีเรียก Maligai (มะลิไฆ) เป็นภาษาทมิฬ เข้าใจว่าปัตตานีสมัยลังกาสุกะรับมาจากอินเดียใต้ สมัยที่ พระเจ้าราเชนทร์ เข้ามายึดครองเมืองลังกาสุกะและเมืองตามพรลึงค์ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ทางเชิงช่างศิลปไทย เรียกเจดีย์มะลิกะ หรือเจดีย์มะลิไฆ ว่า ทรง ฉัตราวาลี พระเจดีย์แบบนี้ นอกจากจะมีการสร้างขึ้นที่เมืองลังกาสุกะและเมืองตามพรลึงค์ (นครศรีธรรมราช) แล้ว ปรากฏว่ายังมีอยู่ที่เกาะสุมาตราตอนกลางที่มัวราตากุสอีกด้วย ซึ่งต่างก็รับอิทธิพลมาจากรูปแบบการช่างของอินเดียใต้

พระมาลิกะเจดีย์ของเมืองนครศรีธรรมราช มีผู้สันนิษฐานว่า เมื่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราช รับเอา พระพุทธศาสนา แบบลังกาวงศ์ ในราว พุทธศตวรรษ ที่ ๑๗-๑๘ ก็ได้สร้างพระมหาธาตุเจดีย์องค์ปัจจุบันครอบคลุมมาลิกะเจดีย์องค์เดิมไว้ (สาสน์สมเด็จ ฉบับวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๘)

….ที่เมืองลังกาสุกะ (อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี) ปัจจุบันยังคงร่องรอยรากฐานเจดีย์น้อยใหญ่หลายองค์ ในท้องที่ตำบลยะรัง ตำบลวัด และพบเจดีย์ดินเผาจำลอง (แบบมาลิกะเจดีย์) ในบริเวณเมืองโบราณแห่งนี้อีกเป็นจำนวนมาก

จากการสำรวจแหล่งชุมชนโบราณในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ บ้านโคกอิฐ ตำบลพะร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส บริเวณ สนามบิน และวัดคูหาภิมุข จังหวัดยะลา บ้านป่าบอน อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งตำนานเมืองไทรบุรี-ปัตตานี ระบุว่า เคยเป็นที่ตั้ง เมืองปัตตานี มาครั้งหนึ่ง แหล่งชุมชนดังกล่าวปรากฏว่า มีซากโบราณวัตถุสถานน้อยกว่าบริเวณชุมชนในท้องที่อำเภอยะรัง โดยเฉพาะ ในเขต ท้องที่ตำบลยะรัง ตำบลวัด ตำบลปิตุมุดี และใกล้เคียงในพื้นที่ ๕ ตารางกิโลเมตร มีโบราณวัตถุ สถาน อันมี คุณค่า ทาง ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีที่พบแล้ว ดังนี้...

….โบราณสถาน ได้แก่ ฐานเจดีย์และเนินดิน ประกอบด้วยอิฐที่มีลักษณะแบบอิฐสมัยทวารวดี ศรีวิชัย สลักหักพัง กระจายอยู่ ในท้องที่ บ้านประแว บ้านใหม่ บ้านวัด บ้านปิตุมุดี มากกว่า ๓๐ เนิน(ย่อ)
โบราณวัตถุ พบพระพุทธรูปศิลาสมัยทวารวดีประทับยืน ปางประทานพร ๑ องค์ และปางอาหูยมุทรา (ปางกวักพระหัตถ์) อีก ๑ องค์ สูงขนาด ๖๐ เซนติเมตร ชาวบ้านพบที่บริเวณทุ่งนาบ้านกำปงบารู ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดป่าศรอำเภอยะหริ่ง และ วัดตานีนรสโมสร วัดละ ๑ องค์

….พระพุทธรูปนูนต่ำ แกะในแผ่นศิลาแดงสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด ๖ นิ้ว เป็นรูปพระโพธิสัตว์ อมิตาภะ พุทธเจ้า พบอยู่ในซาก องค์พระเจดีย์ ที่บ้านกำปงบารู ตำบลยะรัง

ธรรมจักรศิลา สูง ๑๓ เซนติเมตร วงล้อกว้าง ๒๖ เซนติเมตร มีกงล้อ ๘ อัน ไม่มีลวดลายแกะสลักประดับตกแต่งวงล้อ ปัจจุบัน เก็บรักษาอยู่ที่วัดตานีนรสโมสร อำเภอเมืองปัตตานี

….กุฑุ หรือ ซุ้มเรือนแก้ว ทำด้วยปูนปั้นผสมกรวดทราย มีลวดลายดอกไม้แบบศิลปอมรวดี คล้ายรูปจำหลักศิลาที่นาคารซุนกอนดา ประเทศอินเดีย(ย่อ) ปัจจุบันมอบให้ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดสงขลาเก็บรักษาไว้

สถูปดินเผาจำลอง พบเป็นจำนวนมากอยู่ในซากองค์พระเจดีย์ ที่บ้านกำปงบารู ตำบลยะรัง มีหลายขนาดหลายรูปแบบ (วารสารเมืองโบราณ ธันวาคม ๒๕๒๑ เรื่อง ศิลปะแบบทวารวดีที่ปัตตานี)

….ศิวลึงค์ รูปสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ มีลักษณะใกล้เคียงองคชาติมาก ส่วนยอดเป็นรูปกลมเหมือนของจริง เรียกว่า "รุทธภาค" ท่อนกลางเป็นรูปเหลี่ยม ๘ เหลี่ยม เรียกว่า "วิษณุภาค" ฐานล่างทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เรียกว่า "พรหมภาค" สูง ๔๔ เซนติเมตร พบที่กูโบ หรือสุสานบ้านยะรัง(ย่อ), องค์ที่ ๒ วิทยาลัยครูยะลาเป็นผู้นำไปเก็บรักษาไว้ องค์ที่ ๓ มีขนาดย่อมกว่า พบที่บ้านป่าศรี พระภิกษุวัดป่าศรี (ย่อ)

แม่พิมพ์ต่างหู ใช้สำหรับหลอมต่างหูด้วยโลหะ เช่น สำริด หรือตะกั่ว ทำด้วยศิลาสีดำ และศิลาสีแดง รวม ๒ พิมพ์ เป็นรูป สี่เหลี่ยม จัตุรัสขนาด ๑๒ x ๒ เซนติเมตร แม่พิมพ์สีแดงพบภายในกำแพงเมืองโบราณบ้านประแว ตำบลยะรัง ลักษณะ รูปแบบ ของแม่พิมพ์ คล้ายกับแม่พิมพ์ต่างหู ที่พบที่เมืองออกแก้ว ประเทศเวียดนาม เมืองโบราณที่อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองนครปฐม บ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี และเมืองโบราณจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบัน มอบให้ศูนย์ศึกษา เกี่ยวกับ ภาคใต้ เก็บรักษาไว้

….โยนีโธรณ ทำด้วยศิลา สัญญลักษณ์แทนองค์พระอุมา เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๘๐ เซนติเมตร ยาว ๑ เมตรเศษ ที่กึ่งกลาง เจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาด ๖ x ๖ สำหรับวางองค์ศิวะลึงค์ และเซาะร่องรอยริมขอบแผ่นโยนีโธรณ พบในสวน ชาวบ้าน ตำบลวัด ขณะขุดหลุมปลูกแตงกวา ชาวบ้านเรียก "ตาเปาะฆาเยาะ" (รอยเท้าช้าง) ได้มอบให้ พิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา นำไปเก็บรักษาไว้

แท่นหินบดยา รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีฐานสี่เหลี่ยมสูง ๑๓ เซนติเมตร กว้าง ๒๒ เซนติเมตร ยาว ๔๕ เซนติเมตร พบที่บ้านต้นทุเรียน ตำบลยะรัง ๒ แท่น และที่บ้านตามางัน ๑ แท่น ชาวบ้านเรียก "ลือชงยาวอ" (ครกชวา) ส่วนลูกกลิ้งหินบด พบเพียง ส่วนชำรุด รูปลักษณะ คล้ายหินบดที่พบตามเมืองโบราณในภาคกลางดังที่กล่าวมาแล้ว

….พระสุริยเทพ ทำด้วยสำริดขนาด ๒๐.๓๐ x ๑๐.๓๐ เซนติเมตร ประทับยืนเหนือแท่นปทุมอาสน์ บนราชรถเทียมด้วยม้า ๗ ม้า มีพระอรุณเทพ ทำหน้าที่สารถี นั่งบังคับม้ามาด้านหน้า ด้านข้างประกอบเทพบริวาร ๔ องค์ คือ ทัณฑีเทพ ปิงคละเทพ และ เทพธิดา มีนามว่า ปรัตยุตาเทพีและอุษาเทพี นั่งมาในราชรถ พบที่บริเวณบ้านกูวิง ปัจจุบันตกไปเป็นสมบัติของเอกชน (พระสุริยะสำริด พบที่เมืองโบราณอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี โดยผาสุข อินทราวุธ วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับภาคปลายปีการศึกษา ๒๕๒๙)

….นอกจากนี้ยังพบเทวรูปนารายณ์ และชิ้นส่วนของนางตารา ทำด้วยสำริดที่ใกล้บริเวณบ้านเกาะหวาย ตำบลวัด ชาวบ้านเรียก พื้นที่ พบโบราณวัตถุนี้ว่า "วะสมิง" (วัดสามี) ปัจจุบันพระภิกษุรูปหนึ่งนำไปหล่อพระพุทธรูปแล้ว

….โบราณวัตถุสถาน และเรื่องราวในจดหมายเหตุของชนชาติต่างๆ ที่กล่าวแล้ว แสดงว่า บริเวณเมืองโบราณ ในท้องที่ตำบลยะรัง ตำบลวัด ตำบลปิตุมุดี อำเภอยะรัง ในอดีตน่าจะเป็นศูนย์กลางของที่ตั้งเมืองลังกาสุกะ มิฉะนั้นคงจะไม่ปรากฏซากโบราณ และชิ้นส่วน โบราณวัตถุ ที่มีอายุไม่น้อยกว่าปีพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ขึ้นไป โดยเฉพาะซากโบราณสถานและโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาพุทธ สาสนาพราหมณ์นั้น เมื่อชาวเมืองเปลี่ยนจากการนับถือศาสนาพุทธ มารับศาสนาอิสลามในระหว่างปี พ.ศ.๒๐๑๒ ถึงปี พ.ศ.๒๐๕๗ แล้วนั้น น่าจะถูกทำลาย หรือ นำไปจำหน่าย แลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นๆ จนหมดสิ้น เฉพาะโบราณวัตถุจำพวกสำริด ซึ่งเป็นของมีค่าและหายากในท้องถิ่น จึงคงมีเหลือ อยู่น้อยมาก

##อ่านย้อนหลัง##
จากลังกาสุกะมาเป็นเมือง ปัตตานี ตอน 1


ที่มา : หนังสือ ประวัติเมืองลังกาสุกะ - เมืองปัตตานี /ผู้เขียน อนันต์ วัฒนานิกร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น