12 ตุลาคม 2561

จาก "พล.อ.อักษรา " เป็น "พล.อ.อุดมชัย" คปต.ชงเปลี่ยนหัวหน้าพูดคุยดับไฟใต้

การประชุม คปต. หรือคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวันนี้ (11 ต.ค.61) กลายเป็นการประชุมที่มีประเด็นสำคัญ เพราะมีการเคาะเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจะมีการเสนอชื่อให้นายกรัฐมนตรีตัดสินใจขั้นสุดท้ายเร็วๆ นี้
ที่ประชุม คปต.มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธาน มีวาระพิจารณาหลายเรื่อง และหนึ่งในนั้นคือการพิจารณาปรับโครงสร้างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากมาเลเซียเปลี่ยนผู้นำรัฐบาล และเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยคนใหม่
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีข้อเสนอให้เปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ จาก พล.อ.อักษรา เกิดผลที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็น พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 โดยจะมีการนำเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาตัดสินใจอีกครั้ง โดยเรื่องนี้ต้องได้ข้อสรุปก่อนที่ดร.มหาธีร์ โมฮาหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียจะเดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือน ต.ค. เพราะจะมีวาระหารือกันของผู้นำทั้งสองประเทศเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯด้วย
         ที่ผ่านมามีข่าวมาตลอดว่ารัฐบาลไทยอาจพิจารณาเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยฯ จาก พล.อ.อักษรา เป็นบุคคลอื่น เพื่อให้สอดรับกับแนวทางการพูดคุยใหม่ที่จะมีขึ้นหลังได้ตัวผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ที่เป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลย์ ซึ่งก็คือ ตัน สรี อับดุลราฮิม บิน โมห์ด นูร์ (อับดุลราฮิม นูร์) คนสนิทของ ดร.มหาธีร์ โดยรูปแบบการทำงานของ อับดุลราฮิม นูร์ ก็มีทิศทางปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของคณะพูดคุยฯฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับ "กลุ่มบีอาร์เอ็น" มากขึ้น เพราะเชื่อกันว่า "บีอาร์เอ็น" เป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อกลุ่มติดอาวุธในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
          ขณะเดียวกันก็มีข่าวลือมาเป็นระยะว่า ทางการมาเลเซียก็ส่งสัญญาณให้รัฐบาลไทยเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยฯ จาก พล.อ.อักษรา เป็นคนอื่น
          พล.อ.อักษรา ทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ มาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.58 ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 259/2558 เรื่อง แต่งตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับถึงปัจจุบันก็เป็นเวลา 3 ปีแล้ว โดยผลสำเร็จสูงสุดจากกระบวนการพูดคุยก็คือ การบรรลุข้อตกลงเรื่อง "พื้นที่ปลอดภัย" นำร่องอำเภอแรกร่วมกัน แม้ภายหลังฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐที่รวมตัวกันมาในชื่อ "มารา ปาตานี"จะไม่ยอมส่งตัวแทนเข้าร่วมในกระบวนการจัดทำ "พื้นที่ปลอดภัย" ก็ตาม
ขณะที่ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ เป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 53-56 เป็นผู้ริเริ่มโครงการ "พาคนกลับบ้าน" ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นอดีตนายทหารที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้มากที่สุดคนหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น