25 กุมภาพันธ์ 2561

แจ้งเตือน!! การก่อเหตุรูปแบบใหม่



การก่อเหตุของคนร้ายที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้พบว่ามีการก่อเหตุรูปแบบใหม่ โดยใช้ วัสดุกำเนิดเปลวไฟไปทำการซุกซ่อนใกล้กับวัตถุไวไฟ จนนำไปสู่การเกิดเป็นเพลิงไหม้ขนาดใหญ่ โดยเป้าหมายหลักของคนร้ายเป็นร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของชำ ร้านค้าส่งขนาดใหญ่


การก่อเหตุของคนร้ายจะนำวัสดุกำเนิดเปลวไฟใส่ในกระเป๋าสตางค์ ซึ่งมีการตรวจพบที่เกิดเหตุใน จ.นราธิวาส ภายในกระเป๋ามีการประกอบชิ้นส่วนตัวกำเนิดเปลวไฟประกอบด้วย แอลกอฮอล์ก้อน, นาฬิกา และถุงหัวไม้ขีดไฟ
นอกจากนี้คนร้ายมีความพยายามตบตาเจ้าหน้าที่ด้วยการประกอบระเบิดแสวงเครื่องที่ทำจากกล่องพลาสติก, ถังสี, ท่อ PVC/ท่อเหล็ก, กระป๋อง, แกลลอนน้ำมัน และถังเหล็กซึ่งส่วนมากจะเป็นถังแก๊ส อีกทั้งยังเคยประกอบระเบิดในกรวย เสาหลักลาย

เพื่อช่วยกันปกป้องมาตุภูมิของเรา การแก้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากผู้ไม่หวังดีไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ทุกคนต้องมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหานี้ ขอความร่วมมือประชาชนทุกท่าน หากพบเห็นวัตถุต้องสงสัยลักษณะคล้ายวัตถุระเบิดแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ใกล้บ้านท่าน หรือผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่นอีกทั้งสามารถแจ้งมายัง กอ.รมน.ภาค 4 สน. โทรหมายเลข 1341 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อร่วมกันปกป้องชีวิตและทรัพย์สินร่วมกัน อย่าให้ใครมาทำร้ายเราอีกเลย

24 กุมภาพันธ์ 2561

คณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต. ยัน ไม่มีการออกกฎหมายพิเศษให้กับผู้เห็นต่างจากรัฐ


เมื่อวันที่ 24 ก.พ. พล.ต.สิทธิ์ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีประเด็นที่เป็นข้อกังวลและข้อคำถามที่สังคมยังมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ทางคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอชี้แจงทำความเข้าใจดังนี้ กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธีของรัฐบาล เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการยุติความรุนแรง ความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนาน และสร้างสันติสุขร่วมกันกับกลุ่มบุคคลที่มีความคิดและอุดมการณ์ต่างจากรัฐ ผ่านทางกระบวนการพูดคุย ซึ่งเป็นวิธีที่นานาประเทศให้การยอมรับ และในอดีตประเทศไทยได้เคยนำมาใช้จนทำให้ประเทศสามารถผ่านพ้นวิกฤติเรื่องความขัดแย้งทางด้านลัทธิ และอุดมการณ์ทางการเมือง ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนในชาติต้องจับอาวุธมาต่อสู้กันเอง

ส่วนการจัดตั้ง Safe House หรือศูนย์ประสานงานเป็นขั้นตอนแรกของการจัดตั้ง Safety Zone หรือพื้นที่ปลอดภัยโดย Safe House จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการประสานงาน และการรับฟัง ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ รวมทั้งข้อกังวลของทุกภาคส่วน ทั้งที่เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย กับสถานการณ์ หรือผู้ที่ความสนใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมทั้งจากในและนอกพื้นที่ โดยการปฏิบัติงานใน Safe House จะประกอบด้วยผู้แทน จาก Party A หรือเจ้าหน้าที่รัฐและ Party B หรือกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ฝ่ายละ 7 คน ซึ่งจะมีการทำบัตรประจำตัวให้กับบุคคลดังกล่าวนี้ เพื่อใช้เป็น มาตรการในการ รักษาความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานใน Safe House และ Safety Zone โดยผู้แทนของ Party B ที่เป็นบุคคลที่มีหมาย จะได้รับการช่วยเหลือให้ได้รับความเป็นธรรมทางด้านคดี ตามกระบวนการยุติธรรมปกติ ไม่ใช่การพักโทษ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้กับผู้ต้องขัง แล้ว และหากมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่ กระทรวงยุติธรรมกำหนดก็อาจได้รับการพิจารณาให้ได้รับการปล่อยตัวก่อนที่จะครบกำหนดระยะเวลาตามคำพิพากษา

ดังนั้น การจัดตั้ง Safe House จึงไม่ใช่การเปิดโอกาสให้คนร้ายเข้าประเทศตามที่ได้มีการตั้งข้อสังเกตไว้ เพราะกระบวนการพูดคุยในระยะปัจจุบัน เป็นการดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายปกติทั้งสิ้น ไม่ได้มีการออกกฏหมายพิเศษเพิ่มเติมใดๆ มารองรับอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ อย่างไรก็ตาม คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ ต่อกระบวนการพูดคุย โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ยึดถือตามนโยบาย และแนวทางที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ไว้ และมีการใคร่ครวญการดำเนินการร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอจากทุกภาคส่วนมาพิจารณา เพื่อให้เกิดความรอบคอบ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญคือ การยุติปัญหาที่เป็นสาเหตุของความรุนแรง และการสูญเสียที่มีอย่างยาวนาน เพื่อนำสันติสุขกลับคืนสู่พื้นที่.



18 กุมภาพันธ์ 2561

เมื่อทหารถูกแทงข้างหลัง....


 


 


อาวุธไม่ใช่ ความรุนแรง แต่อาวุธที่รุนแรงที่ทรงพลังที่สุด คือ จิตใจของคน ทั้งที่มันเห็นคนท้อง ผู้หญิง เด็ก คนชรา แต่จิตใจมันก็ยังบังคับนิ้วมือลั่นไกปืนออกไป กระสุนร้ายปลิดลมหายใจผู้บริสุทธิ์มาตลอด 14 ปี

ดังนั้นการถือปืนไปในโรงเรียนไม่ได้รุนแรงอะไร แต่สิ่งที่ผ่านมาสิ พบระเบิดอาวุธในโรงเรียนตาดีกา และที่สำคัญพบการสอนประกอบระเบิดและการสอนบิดเบือนของครูสอนศาสนาบางคนในพื้นที่ สิ่งนี้สิคือสิ่งที่เป็นอาวุธที่รุนแรงที่สุดเพราะมันจะอยู่ในจิตใจของเด็กๆไปตลอดชีวิตจากการบ่มเพาะของครูที่ขี้นชื่อว่า ครูสอนศาสนา (บางคน)

กลุ่ม NGOs กลายเป็นแนวร่วมอาชญากร เคยไหม พบระเบิดในโรงเรียน ซุ่มยิงทหารในโรงเรียน ล่าสุดวางระเบิดในโรงเรียน เคยออกมาประณามกลุ่มคนร้ายที่ทำบ้างไหม แต่นี้เจ้าหน้าที่ไปทำกิจกรรมในโรงเรียนสร้างรอยยิ้ม ตัดผมเด็ก เอาขนม เครื่องเขียนไปแจก กลับออกมาประณามโจมตีทหารว่าละเมิดสิทธิ ดูเอาเทอดครับพี่น้องประชาชน ว่ากลุ่ม NGOs เหล่านี้ทำงานเพื่อใครกันแน่ ทำไมมันชัดเจนยิ่งกว่า RKK เสียอีก แล้วรัฐจะปล่อยพวกปลิงพวกนี้เคลื่อนไหวต่อไปอีกหรือ?

14 กุมภาพันธ์ 2561

106 BRN ,Pulo และ กกล.RKK เข้า"โครงการพาคนกลับบ้าน"



106 BRN ,Pulo และ กกล.RKK เข้า"โครงการพาคนกลับบ้าน"/ รายงานตัวต่อ"บิ๊กอาร์ท" ขอเริ่มต้นชีวิตใหม่ บนแผ่นดินเกิด /กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า-สมช.-ศอบต.-ตร.-มหาดไทย ร่วมคัดกรอง-ซักถาม-เก็บ DNA
ปัตตานี - วันนี้ (วันที่ 14 ก.พ.61) ที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 44 อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ประชุมหารือแนวทางการปฏิบัติ โครงการพาคนกลับบ้านโดยมี พลตรี เฉลิมพล จินนารัตน์ ผู้แทนเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ , นายบรรจบ จันทรัตน์ ผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย, นายวีรนันท์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี, นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม


การประชุมดังกล่าวเพื่อหารือความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการพาคนกลับบ้าน ในประเด็นการอำนวยความสะดวกด้านกระบวนการยุติธรรมและขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติให้กับผู้ที่ยังหลบหนีอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน
โดยล่าสุดมีผู้ที่ประสงค์เข้ามารายงานตัวเข้าสู่โครงการพาคนกลับบ้านเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 103 คน ประกอบด้วยสมาชิก BRN และ Pulo เก่า รวมถึงผู้ที่เข้าไปหลบหนีอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน โดยภายหลังการประชุมได้มีการพบปะกับผู้ที่เข้ารายงานตัว โครงการพาคนกลับบ้าน จำนวน 103 คน พร้อมญาติพี่น้อง โดยมีผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย และสภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงกระบวนการและขั้นตอนโครงการพาคนกลับบ้านหลังจากรับรายงานตัว นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ทำการตรวจ DNA ผู้ที่รายงานตัวเข้าร่วมโครงการในเบื้องต้นอีกด้วย


พลโท ปิยวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานโครงการพาคนกลับบ้านในขณะนี้ได้เชิญทางด้านกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรมและสภาความมั่นคงแห่งชาติ รวมถึงฝ่ายตำรวจ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาเพื่อพิสูจน์สัญชาติของผู้ที่เข้าร่วมโครงการล่าสุดจำนวน 103 คนเพื่อพิสูจน์ว่าเป็นสัญชาติไทย


หลังจากนั้นจะนำสู่กระบวนการขั้นตอนโครงการ ยืนยันว่าจะดูแลทุกคนด้วยความยุติธรรมตามกระบวนการกฎหมายไทย โดยในขณะนี้มีผู้ที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติแล้วจำนวน 24 คน
ผู้ร่วมโครงการพาคนกลับบ้าน คนหนึ่งเผยว่า รู้สึกดีใจที่ทางรัฐบาลไทยให้การดูแลพวกเขา ขณะนี้ทุกคนต้องการที่จะกลับมาอยู่ประเทศไทยเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ และมีความมั่นใจในกระบวนการขั้นตอนของโครงการพาคนกลับบ้าน ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้การดูแลและมีโครงการนี้ขึ้นมา

11 กุมภาพันธ์ 2561

จัดฉากบังคับกูอีกแล้ว !!!




กลุ่ม NGOs ที่มีเกลือนกลาดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่มี NGOs บางคนบางกลุ่มแสวงประโยชน์จากเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แกนนำคือนายสมชาย หอมลออ และนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ, กลุ่มด้วยใจ แกนนำคือนางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ และน้องสาวคือนางสาวปัทมา หีมมิหน๊ะ ซึ่งนางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ  เป็นตัวหลักๆ ในการประสานกับองค์กรภายนอกประเทศ โดยหยิบยกเรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการซอมทรมานนักโทษหรือผู้ต้องสงสัย   ด้วยการสร้างข้อมูลตามจินตนาการของตนเอง บีบเค้น และโน้มน้าวให้ผู้หลงผิดหรือผู้ต้องสงสัยที่เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายจำเป็นต้องให้ความร่วมมือด้วยการสร้างเรื่อง 

ที่ผ่านมาเมื่อเร็วนี้ได้ปลุกระดม บิดเบือน เผยแพร่ ผลงานของเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ รายงานข่าวชาวบ้านแฉถูกซ้อมทรมาน ซึ่งได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 ทางเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ แต่ในเวลาต่อมาหน่วยงานความมั่นคงได้ทำการตรวจสอบ พบว่าเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง และสร้างความเสื่อมเสีย สร้างความเสียหายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ฝ่ายความมั่นคงอย่างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จึงเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อบรรณาธิการผู้จัดการออนไลน์ เพื่อเอาผิดต่อผู้ที่นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จตามความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 

ในเวลาต่อมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, กลุ่มด้วยใจ, เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี และเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ออกมากดดันให้ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ถอนแจ้งความ “ผู้จัดการออนไลน์” เห็นแล้วใช่ไหมครับว่าเบื้องหลังของการสร้างกระแสความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สุดท้ายก็คือองค์กรสิทธิมนุษยชนเหล่านี้เอง ส่อให้เห็นถึงพฤติกรรมของนักสิทธิฯ ที่ไม่เคยมีความละอายแก่ใจ และสำนึก ตลอดจนสื่อกระแสหลัก หรือแม้กระทั่งสื่อทางเลือกหลายๆ สำนักมีการนำเสนอข่าวสารที่บิดเบือน สร้างความแตกแยก ตลอดจนการปลุกระดมให้มีการเกลียดชังหน่วยงานภาครัฐ ที่กล่าวเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ที่เป็นผลงานอันแสนอัปยศ ที่หลอกลวงพี่น้องประชาชนทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

9 กุมภาพันธ์ 2561

เปิดเส้นทางค้ามนุษย์โรฮิงญา





การอพยพออกจากรัฐยะไข่ ของชาวโรฮิงญา เพื่อลี้ภัยเหตุรุนแรงในประเทศเมียนมา เปิดช่องทางให้ขบวนการค้ามนุษย์ ลักลอบขนชาวโรฮิงญาเข้าประเทศ ส่งไปประเทศมาเลเซีย โดยเปลี่ยนวิธีการขนจากอดีตที่ขนทางรถยนต์ เป็นขบวนรถไฟ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับ เราไปดูเครือข่ายขบวนการนี้ และ เส้นทางขนชาวโรฮิงญาเข้าประเทศ

เครือข่ายนี้มีนายโซริน ชาวโรฮิงญาที่ทำงานอยู่ในประเทศมาเลเซีย ติดต่อนายหน้าชาวบังคลาเทศให้ชาวชาวโรฮิงญาจากรัฐยะไข่ ประเทศเทศเมียนมาไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย โดยนายโซริน เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยมีข้อตกลงว่าชาวโรฮิงญาที่ไปมาเลเซีย ต้องนำที่ดิน และทรัพย์สินฝากไว้กับครอบครัวนายโซรินที่รัฐยะไข่ เป็นหลักค้ำประกัน และมีข้อแม้หากถูกจับระหว่างเดินทาง ทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของนายโซริน

ส่วนเส้นทางขนชาวโรฮิงญา นายหน้าชาวบังคลาเทศ พาออกจากรัฐยะไข่ เข้าทางบังคลาเทศ ส่งต่อไปยังประเทศอินเดีย และ นั่งเรือย้อนไปยังเมืองมัณฑะเลย์ ส่งให้นายหน้าที่ประเทศเมียนมา รับช่วงต่อ พานั่งรถต่อมายังเมืองย่างกุ้ง และ ส่งให้เครือข่ายที่ประเทศไทย ด้านจังหวัดตาก หรือพามาส่งแถบจังหวัดชัยนาท บริเวณจุดนี้ นายมูฮัมหมัด หัวหน้าค้ามนุษย์ในประเทศไทย สั่งให้เครือข่ายขับรถยนต์ไปรับชาวโรฮิงมาส่ง ที่กรุงเทพมหานคร และ นายมูฮัมหมัดพร้อมเครือข่ายอีกกลุ่มหนึ่ง มารับช่วงต่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟนายหนึ่ง พาซ่อนตัวในบ้านการรถไฟฯที่จังหวัดนครปฐม พาขึ้นรถไฟไปอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ส่งให้นายหน้าพาเข้าประเทศมาเซีย

ซึ่งข้อมูลตำรวจพบว่า ขบวนการนี้ ทำมากว่า 1 ปี และ พาขึ้นขบวนรถไฟครั้งละ 7 ถึง 10 คน และ ลักลอบพาถี่ขึ้น ส่วนการใช้เส้นทางรถไฟขนชาวโรฮิงญา แทน การขนทางรถยนต์ในอดีต เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับของเจ้าหน้าที่


ที่มา:ศูนย์ข่าวภาคใต้ Thai PBS

6 กุมภาพันธ์ 2561

จับกุมชาวไทย 6 ราย พร้อมยึดวัตถุระเบิดในมาเลย์


ทางการมาเลเซียกล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า ในช่วงวันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กู้วัตถุระเบิดได้ตรวจพบอุปกรณ์ผลิตวัตถุระเบิดจำนวนหลายรายการ ปืน กระสุนปืน และเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวนหนึ่ง ในตอนเหนือของรัฐกลันตัน ซึ่งนำไปสู่การจับกุมชาวไทยหกราย

เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐกลันตันของมาเลเซีย ได้แถลงการจับกุมชาวไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ 6 คน อายุระหว่าง 19-55 ปี ในจำนวนนั้นเป็นคู่สามี-ภรรยา 2 คู่ ซึ่งทั้งหมดมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน หลังจากจัดกำลังเจ้าหน้าที่มาเลเซีย กวาดล้างอาชญากรรมที่บ้านพักแห่งหนึ่ง ในพื้นที่บ้านเกอเตอเรห์ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เมื่อเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา

"การสืบสวนสอบสวนพบว่า วัตถุระเบิดพวกนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับดาเอช (Daesh) และเราเชื่อว่าพวกเขาต้องการใช้ระเบิดเพื่อป้องกันตนเอง (จากเจ้าหน้าที่)" ฮาซานุดดิน ฮัสซัน หัวหน้าตำรวจรัฐกลันตัน กล่าวโดยใช้คำเรียกกลุ่มไอเอส กลุ่มหัวรุนแรงเป็นภาษามาเลเซีย "เรายังเชื่อว่า ผู้ต้องสงสัยคงมีปืนไว้ใช้ในการป้องกันตัว เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องในการลักลอบค้ายาเสพติด"

ผู้ต้องสงสัยทั้งหกคนเดินทางเข้าประเทศมาเลเซียโดยผิดกฎหมาย และได้เช่าบ้านเมื่อกลางปีที่แล้ว ฮาซานุดดินกล่าว ขณะนี้ได้ถูกคุมขังจนถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์

เจ้าหน้าที่หน่วยปราบปรามยาเสพติดมาเลเซียได้บุกทลายเข้าไปในบ้านหลังแรก เมื่อเวลาประมาณ 2:30 น. ในวันเสาร์ ได้จับกุมคู่สามีภรรยา อายุ 23 และ 19 ปี และชายอายุ 39 ปี รายหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตรวจพบปืนพกสั้น 3 กระบอก อุปกรณ์ผลิตวัตถุระเบิดจำนวนหลายรายการ ได้แก่ แบตเตอร์รี่ แผงวงจรไฟฟ้า เพาเวอร์แบ็งค์ ประทัดยักษ์ และอื่นๆ อีกหลายรายการ ซ่อนไว้ภายในบ้านพัก และยังตรวจพบยาเสพติดอีกหลายรายการ มูลค่า 150 ริงกิต หรือประมาณ 1,215 บาท
"เจ้าหน้าที่หน่วยกู้วัตถุระเบิดรัฐกลันตัน ได้ทำการตรวจสอบอุปกรณ์ระเบิดที่ประกอบขึ้นเอง” ฮาซานุดดินกล่าว

การบุกค้นครั้งที่สองเกิดขึ้นประมาณ 4:40 น. และนำไปสู่การจับกุมคู่สามี-ภรรยาอีกคู่หนึ่ง และหญิงอีกรายหนึ่ง ทั้งสามมีอายุระหว่าง 31 ถึง 55 ปี เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึดปืนพกกระบอกที่สี่ เครื่องกระสุนปืนจำนวน 164 นัด และยาเสพติดชนิดเมทแธมเฟตามีน มูลค่าประมาณ 100 ริงกิต หรือประมาณ 810 บาท และอุปกรณ์ผลิตวัตถุระเบิดจำนวนหนึ่ง ฮาซานุดดินกล่าว

"เราเชื่อว่า อุปกรณ์ที่ยึดมาได้ทั้งหมดนั้น น่าจะถูกลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายผ่านชายแดนไทย – มาเลเซีย ทางรัฐกลันตัน" เขากล่าว

ตำรวจ: ผู้ต้องสงสัยให้คนในพื้นที่เช่าปืน
เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่า ผู้ต้องสงสัยซื้อปืนพกมาในราคาประมาณกระบอกละ 5,000 ริงกิต (40,490 บาท) ถึง 6,000 ริงกิต (48,590 บาท) ก่อนจะลักลอบนำเข้ามาในมาเลเซีย ฮาซานุดดินกล่าว
"เราเชื่อว่า เขายังให้ชาวบ้านเช่าปืนด้วย แต่เราจะสืบต่อไปว่า พวกเขานำมาใช้ในทางผิดกฎหมายอื่นๆ หรือเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดหรือไม่" เขากล่าว

เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวด้านความมั่นคงผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม กล่าวแก่แบนาร์นิวส์ว่า บุคคลกลุ่มดังกล่าวรับสารภาพว่านำชิ้นส่วนเข้ามาเลเซียโดยผ่านทางแม่น้ำสุไหงโกลก และเชื่อว่าทั้ง 6 คน ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านเกอร์เตอเรห์ ยาวนานเกือบ 1 ปี โดยไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารแสดงตนใดๆ

พื้นที่แถบชายแดนไทย – มาเลเซียที่ติดกับรัฐกลันตันและทางตอนเหนือของรัฐปะลิส รัฐเกอดะห์ (หรือ ไทรบุรี) และรัฐเประห์ เป็นทางผ่านแดนที่ขึ้นชื่อว่า เป็นทางผ่านที่ผู้ลักลอบขนอาวุธและยาเสพติดนิยมใช้แห่งหนึ่ง

นับตั้งแต่ปี 2547 มีประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ส่วนมากเป็นพลเรือนที่เสียชีวิตแล้วกว่า 7,000 คน โดยส่วนใหญ่จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่
เมื่อปี พ.ศ. 2558 รัฐบาลทหารไทยได้ดำเนินการเจรจาสันติสุขกับกลุ่มมารา ปาตานี กลุ่มที่อ้างว่าเป็นตัวแทนกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนทั้งหมดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกนั้น ยังไม่มีการประกาศการจัดตั้งพื้นที่เขตปลอดภัย ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนแรกในการนำไปสู่การยุติความขัดแย้ง

ที่มา: www.benarnews.org

4 กุมภาพันธ์ 2561

เฝ้าระวังคนร้ายคดีปล้นเต็นท์รถยนต์มือสองนาทวี หนีกบดานในอำเภอหาดใหญ่



ข่าวเตือนภัยและฝากประชาสัมพันธ์เป็นหูเป็นตา หลังจากมีข่าวว่ามีผู้ต้องหาในคดีปล้นเต็นท์รถยนต์มือสองที่ อ.นาทวี จ.สงขลา หลบหนีกบดานในอำเภอหาดใหญ่



แจ้งเตือน!! นายบูคอรี หลำโสะ อายุ 28 ปี ซึ่งมีพื้นเพเป็นชาว อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับคดีปล้นเต็นท์รถยนต์มือสองที่ อ.นาทวี จ.สงขลา เมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 16 ส.ค.60 (บุก!! ปล้นเต็นท์รถทำคาร์บอม | นาทวี) ซึ่งในคดีดังกล่าวมีคนร้ายประมาณ 6 - 7 คน แต่งชุดสีดำ มีอาวุธปืน สั้น - ยาว ใช้รถมาสด้า BT50 ผ้าเต็นท์คุมสีดำคล้าย รถรับ - ส่ง นักเรียน จากนั้นจับพนักงานในร้าน 4 คน เป็นตัวประกัน


หลังจากนั้นมีการปะทะกันในพื้นที่ สภ.ห้วยปลิง (ม.3 ต.วังใหญ่) ได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 คน อีก 2 คนวิ่งหลบหนีได้ ต่อมาในเวลา 14.55 น. มีรายงานเจ้าหน้าที่วิสามัญคนร้ายได้ 1 ราย จากการติดตามรถหมายเลขทะเบียน บธ 4063 พัทลุง กำลังรอ EOD ตรวจสอบระเบิดในรถ


ซึ่งได้หลบหนีการจับกุม แอบหลบซ่อนตัวในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ผู้ใดพบเห็นช่วยแจ้งเบาะแส ข่าวสารต่อเจ้าหน้าที่ใกล้บ้านท่าน หรือสามารถแจ้งมายัง กอ.รมน.ภาค 4 สน.ที่หมายเลข 1341 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามนำตัวคนร้ายมาดำเนินคดีต่อไป


  รูปปัจจุบันอายุมากกว่ารูปบัตรประชาชน

1 กุมภาพันธ์ 2561

การซ้อมทรมานตำนานที่ล่องลอย


การซ้อมทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ยังคงเป็นวาทกรรมที่กลุ่มอา
ชญากรใต้และสื่อแนวร่วมนำมาต่อต้านการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่และเป็นประเด็นสำคัญที่นักสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ให้ความสนใจ

ในปัจจุบันเจ้าหน้าที่และหน่วยงานความมั่งคงในพื้นที่ ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ มีการให้องค์กรระหว่างประเทศ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ องค์กรภาคประชาสังคม และ องค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมสถานที่ควบคุมตัวและขั้นตอนการซักถามได้ตลอดเวลา

การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เจ้าหน้าที่จะใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ มิให้มีการละเมิดสิทธิและการซ้อมทรมานอย่างเด็ดขาด กระบวนการมีความโปร่งใส และตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน ภายใต้การรับรู้และมีส่วนร่วมของผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่นผู้นำศาสนาและบุคคลในครอบครัว ขั้นตอนของการจับกุมใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ขั้นตอนการคุมตัวซักถามและปล่อยตัว มีการตรวจร่างกายและรับรองโดยแพทย์ และญาติ เปิดโอกาสให้บุคคลในครอบครัวเข้าเยี่ยมได้ทุกวันตามห้วงเวลาที่กำหนด พร้อมมีสิ่งอำนวยความสะดวก และ การประกอบศาสนกิจตามหลักศาสนา

ปัจจุบันสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว การซ้อมทรมานเหมือนตำนานที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ แต่.....
- กลุ่มอาชญากรใต้และสื่อแนวร่วม : ยังคงสั่งสอน แนะนำแนวถันถึงการต่อสู้ด้วยวิธีนี้
- นักสิทธิฯ และองค์กรภาคประชาสังคมแนวร่วม : ยังคงใช้แนวทางนี้ในการต่อสู้กับรัฐ
- นักสิทธิฯ และองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ : ยังคงใช้แนวทางนี้ในการขับเคลื่อนองค์กร
- ผู้ต้องสงสัยที่ถูกปล่อยตัวบางคนที่หลงเชื่อ : ยังคงคาดหวังเงินเยียวยาจากทางการ