รองนายกรัฐมนตรี และผู้แทนพิเศษของรัฐบาลฯ เตรียมลงพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อประชุมใหญ่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หลังเกิดการระบาดของโรคหัดในเด็ก ทำให้มีเด็กเสียชีวิต 5 ราย ติดเชื้อและป่วยอีกเกือบครึ่งพัน
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ หัวหน้าคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นัดกันลงพื้นที่วันที่ 19 ต.ค.นี้ พร้อมเรียกประชุมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งสามจังหวัด ที่สำนักงานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย จังหวัดปัตตานี เพื่อเร่งรัดหามาตรการป้องกันปัญหาการระบาดของโรค ตลอดจนปัญหาสุขภาวะในภาพรวมของพื้นที่ด้วย
การระบาดของ "โรคหัด" ไม่ควรเกิดขึ้นอีกแล้วในบ้านเรา เพราะประเทศไทยเตรียมประกาศให้โรคหัดหมดไปจากประเทศภายในปี 2563 ตามพันธะสัญญานานาชาติ
แต่ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมากลับมีเด็กป่วยจากโรคหัดจำนวนมาก ที่โรงพยาบาลเต็มไปด้วยเด็กๆ ที่รอเข้าคิวตรวจ ท่ามกลางความเครียดของพ่อแม่ผู้ปกครองที่กังวลกับอาการของลูกน้อย
รอกีเยาะ อาบู แม่ลูกอ่อนชาวจังหวัดยะลา เป็นหนึ่งในหลายๆ คนที่ต้องพาลูกน้องไปหาหมอ เนื่องจากติดโรคหัด รอกีเยาะ เล่าว่า ลูกสาวคนที่สองไม่สบาย หมอบอกว่าติดเชื้อเป็นหัด ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล ทั้งๆ ที่ลูกคนโตเพิ่งเป็นหัดได้ไม่นาน และเพิ่งได้ออกจากโรงพยาบาลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
"รู้สึกเครียดมาก เพราะเงินก็ไม่มี ลูกก็ไม่สบาย ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร นอกจากดูแลกันไป ยิ่งตอนนี้มีเด็กตายไปแล้ว 5 คน ยิ่งทำให้รู้สึกกลัว"
ข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา ระบุว่า สถานการณ์โรคหัดล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ถึง 11 ต.ค.61 มีผู้ป่วย 392 คน พบกระจายอยู่ทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดยะลา มีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 คน โดยการระบาดของโรคอยู่ในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
จำนวนผู้ป่วยแยกเป็นรายอำเภอ คือ อ.ยะหา 103 ราย อ.บันนังสตา 57 ราย อ.ธารโต 56 ราย อ.กาบัง 53ราย อ.กรงปีนัง 49 ราย อ.เมืองยะลา 43 ราย อ.รามัน 24 ราย และ อ.เบตง 7 ราย
สำหรับเด็กที่เสียชีวิต เป็นผู้ป่วยจาก อ.กรงปินัง 3 ราย อ.บันนังสตา และ อ.ธารโต อำเภอละ 1 ราย
นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา บอกกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า พื้นที่ระบาดหนักที่สุดมี 3 อำเภอ คือ อ.ยะหา อ.บันนังสตา และ อ.ธารโต ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณการรับวัคซีนต่ำ แต่ยืนยันว่าจนถึงขณะนี้สามารถควบคุมการระบาดได้ระดับหนึ่งแล้ว เพราะจำนวนผู้ป่วยใหม่ลดลง
"ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินฯโรคหัดขึ้น พร้อมทั้งได้ควบคุมการระบาดของโรคด้วยมาตรการ 323 คือ 'หาให้ครบ ฉีดให้ทัน' โดยการลงพื้นที่เชิงรุก ดำเนินการวินิจฉัยโรคให้เร็ว แจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ทราบภายใน 3 ชั่วโมงเพื่อสอบสวนโรค หาผู้สัมผัสโรคให้ครบภายใน 2 วัน และดำเนินการฉีดวัคซีนแก่ผู้สัมผัสโรคภายใน 3 วัน" นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าว
สำหรับสาเหตุของการระบาด มาจากการไม่รับวัคซีน หรือได้รับไม่ครบตามเกณฑ์ เนื่องจากประชาชนบางส่วน โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมเข้าใจผิดว่าวัคซีนผลิตจากส่วนประกอบของหมู จึงปฏิเสธการรับวัคซีน ทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริง
นพ.สงกรานต์ ย้ำว่า ขณะนี้มีคำแถลงชี้แจงจากจุฬาราชมนตรีออกมาแล้ว ขณะที่ทางสาธารณสุขจังหวัดก็พยายามลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจ โดยเฉพาะกับพ่อแม่ ปู่ย่าตายายของเด็ก เพื่อให้ยินยอมพาเด็กมารับวัคซีน
"วัคซีนโรคหัดที่นำมาใช้ในประเทศไทยเป็นวัคซีนที่ปลอดภัย ไม่มีส่วนประกอบมาจากหมู เป็นวัคซีนที่มีการใช้กันทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศมุสลิมอย่างประเทศมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย นอกจากนี้วัคซีนยังมีประโยชน์ในการป้องกันโรคหัด และป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากโรคได้"
"ขอเน้นย้ำให้ประชาชนที่มีบุตรหลานที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโรคหัด มารับการฉีดวัคซีนโดยด่วนที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย และหากเด็กในปกครองมีไข้ ไอ มีผื่นแดงและตาแดง ให้แยกเด็กออก ไม่ให้สัมผัสกับเด็กอื่นเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ และในกรณีที่ในบ้านที่มีเด็กสัมผัสร่วมบ้านกับผู้ป่วย หากไม่ได้รับวัคซีนหรือฉีดวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ให้ผู้ปกครองนำเด็กไปฉีดวัคซีนให้ครบ หรือในกรณีของเด็กนักเรียน หากมีอาการข้างต้นให้หยุดอยู่บ้าน เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์เช่นกัน" นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา ระบุ
"โรคหัด" เป็นโรคไข้ออกผื่น จริงๆ แล้วพบได้ทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กเล็ก อายุ 1-6 ปี เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อกันได้ง่ายมากโดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด อาการของโรคหัด เริ่มจากมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะ และกลัวแสง อาการต่างๆ จะมากขึ้นพร้อมกับไข้ที่สูงขึ้น และจะสูงขึ้นเต็มที่เมื่อมีผื่นขึ้นในวันที่ 4 ลักษณะผื่นนูนแดงติดกันเป็นปื้นๆ อาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยมากโดยเฉพาะในเด็กเล็กคือ หูส่วนกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ อุจจาระร่วง สมองอักเสบ พบได้ประมาณ 1 ใน 1,000 ราย ซึ่งจะทำให้พิการ หรือเสียชีวิตได้
ปัจจุบันโรคหัดป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน ครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 2 ปีครึ่ง
สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 2 จังหวัด คือ ปัตตานี และนราธิวาส พบผู้ป่วยบ้างเหมือนกัน แต่ยังไม่ถึงขั้นระบาด โดยปัตตานีพบผู้ป่วย 58 ราย นราธิวาส 19 ราย
จริงๆ แล้วปัญหาด้านสุขภาวะและสาธารณสุข เป็นปัญหาหนักมากในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมาองค์การยูนิเซฟ เคยเผยแพร่รายงานการศึกษาจากในพื้นที่ พบว่าเด็กๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในภาวะขาดสารอาหาร หรือ "ทุพโภชนาการ" สูงที่สุดในประเทศ ขณะเดียวกันก็มีอัตราการรับวัคซีนป้องกันโรคต่ำที่สุดในประเทศ (อ่านประกอบ : เด็กชายแดนใต้ขาดสารอาหาร แถมเสี่ยงเอดส์!)