หน้าเว็บ

28 มีนาคม 2560

จากเมืองลังกาสุกะมาเป็นเมืองปัตตานี ตอนที่ 1


แหลมมลายูในสมัยโบราณถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมและอารยธรรมอินเดีย เนื่องจากมีชาวอินเดียมาค้าขาย เมืองแรก ทีชาวอินเดียสร้างขึ้นคือเมืองลังกาสุกะ เมื่อ พ.ศ.๗๔๓ มีการค้นพบเทวสถานฮินดูและเครื่องใช้แบบฮินดู ชาวอินเดียพวกนี้ข้ามฟากมาจากเกาะชวา จึงเรียกแหลมนี้ว่า มลายูซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต แปลว่าข้ามฟากจนถึง ในแหลมนี้ยังมีชนชาติดั้งเดิมอยู่ก่อนคือชาวเล พวกซาไกเซกัง และโอรังลาโวด ชนเชื้อไทยจากสุวรรณภูมิได้เข้าไปอยู่ในดินแดนนี้ตอน พ.ศ.๕๐๐ ในปี พ.ศ.๗๖๓ อาณาจักรฟูนันของชาวอินเดียได้ครอบครองแหลมมลายู และเสื่อมอำนาจไปใน พ.ศ.๘๐๐ ชนเชื้อไทยจึงได้ตั้งอาณาจักรตามพรลังค์ กินดินแดนตลอดแหลม มีศูนย์กลางที่นครศรีธรรมราช

พ.ศ.๑๒๒๘ บนเกาะสุมาตราเกิดอาณาจักรศรีวิชัยขึ้น ตามพรลังค์ก็ตกอยู่ใต้อำนาจศรีวิชัย พอ พ.ศ.๑๔xx ศรีวิชัยเสื่อมอำนาจ ในเกาะชวาและสุมาตรามีอาณาจักรมัชปาหิตมามีอำนาจแทน ในสมัยก่อนดินแดนแถบนี้นับถือศาสนาพุทธหรือพราหมณ์ ศาสนาอิสลามได้เข้ามาบริเวณนี้เป็นครั้งแรกราว พุทธศตวรรษที่ ๑๙ มะละกาเป็นเมืองแรกที่เปลี่ยนไปถืออิสลามในราว พ.ศ.๑๙๘๙

ตามประวัติศาสตร์ดินแดนไทยในแหลมมลายู เป็นของประเทศไทยตั้งแต่สุโขทัยเป็นราชธานี และรวมนครศรีธรรมราชและดินแดนตลอดทั้งแหลมตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๓๔ สำหรับเมืองปัตตานี ถูกสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๑๐๔ มีเจ้าเมืองคนแรกชื่อ พยาตนกรู อันตารา เริ่มแรกไม่ได้เป็นอิสลาม แต่เมื่อป่วยหนักหมออิสลามจากเปอร์เซียมารักษาโดยมีเงื่อนไขว่าถ้าหายต้องหันมาเป็นมุสลิม ปรากฏว่าหาย คนปัตตานีจึงเป็นมุสลิมตามเจ้าเมืองเมื่อประมาณ ๔๐๐ กว่าปีมานี้ ก่อนหน้านี้คนบริเวณปัตตานีคือคนเชื้อไทยที่อพยพมาจากสุวรรณภูมิและนับถือศาสนาพุทธ ดังนั้นทั้งคนพุทธ อิสลาม ในบริเวณนั้นจึงมีเชื้อชาติที่มาจากคนสุวรรณภูมิด้วยกัน

จดหมายเหตุจีน สมัยราชวงศ์เหลียง ชื่อเหลียงชู ได้บันทึกเรื่องราวอันน่าสนใจของเมืองนี้ไว้ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ความว่า "รัฐลัง-ยา-สิ่ว ตั้งขึ้นเมื่อศตวรรษที่ ๗ อยู่ในบริเวณทะเลใต้ ห่างจากเมืองท่ากวางตุ้ง ๒๔,๐๐๐ ลี้ อาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับประเทศผัน-ผัน หรือ พาน-พาน ประเทศนี้มีความกว้างยาว วัดด้วยการเดินเท้าจากทิศใต้ไปจรดทิศเหนือ ใช้เวลาเดินทางกว่า ๒๐ วัน และหากเดิน จากทิศ ตะวันออก ไปถึงตะวันตกก็จะใช้เวลา ๓๐ วัน

ตัวเมืองลังกาสุกะ มีกำแพงล้อมรอบ มีประตู และหอคอยคู่ พระราชา มีพระนามว่า ภคทัต (ยอเจียต้าตัว) เวลาจะเสด็จไปที่แห่งใด จะทรงช้างเป็นพาหนะ มีฉัตรสีขาวกั้น มีขบวนแห่ประกอบด้วยกลอง และทิวนำหน้า แวดล้อมด้วยทหารที่มีหน้าตาดุร้าย คอยระแวดระวังพระองค์
ชาวเมืองนิยมไว้ผมยาว ผู้หญิงแต่งกายด้วยผ้าฝ้าย (Ki-Pei) มีเครื่องเพชรพลอยประดับตบแต่งกาย ผู้ชายมีผ้าพาดไหล่ทั้งสอง มีเชือกทอง คาดต่างเข็มขัด และสวมตุ้มหูทองรูปวงกลม

เมื่อปีที่สิบแห่งศักราชเถียนเจียน (ตรงกับปี พ.ศ.๑๐๕๘) กษัตริย์เมืองลังกาสุกะส่งราชฑูตชื่อ อชิตะ (อาเช่อตัว) ไปเฝ้าจักรพรรดิ์จีน ทางจีน ให้ช่างเขียน เขียนภาพราชฑูตไว้เป็นที่ระลึก คุณสังข์ พัธโนทัย ได้ให้คำบรรยายภาพว่า

" เป็นคนหัวหยิกหยองน่ากลัว นุ่งผ้าโจงกระเบน ห่มสไบเฉียง สวมกำไลที่ข้อเท้าทั้งสอง ผิวค่อนข้างดำ"( เมืองโบราณ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๒ ประจำเดือน ธันวาคม ๒๕๒๑ - มกราคม ๒๕๒๒)ข้อความนี้ไปพ้องกับคำพังเพยของชาวปักษ์ใต้บทหนึ่งที่กล่าวว่า "ผมหยิก หน้าก้อ คอปล้อง น่องทู่" ซึ่งถือกันว่าเป็นลักษณะของผู้ชายที่ไม่น่าไว้วางใจนักสำหรับท่านหญิง รูปลักษณะของฑูตลังกาสุกะนี้ เราจะพบเห็น ได้จาก ชาวชนบท ในภูมิภาคทักษิณของประเทศไทยได้ทั่วๆ ไป
หนังสือ เป่ยซู และสุยซู ของจีน ชี้ที่ตั้งของเมืองลังกาสุกะไว้ในแวดวงที่กว้างขวางพอสมควร เช่นเดียวกับหนังสือ The Golden Khersonese ของศาสตราจารย์ปอล วิตลีย์ และหนังสือ Negara Kertagama ของพระปัญจ นักบวชในนิกายศิวะพุทธ แห่งราชอาณาจักรมัชฌปาหิต ว่าอยู่ในแคว้นปัตตานี ในอดีต (ซึ่งครอบคลุมไปถึงพื้นที่ของรัฐตรังกานู และรัฐกลันตัน)

หนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต (ฟอนฟลีต) ชาวฮอลันดา ซึ่งเคยมาตรวจกิจการค้าของบริษัทดัชอิสต์อินเดีย ที่ตั้งอยู่ในเมือง ปัตตานี และได้เข้าเฝ้าเจรจาปัญหาบ้านเมืองกับเจ้าหญิงอูงูรานีแห่งเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.๒๑๘๕ ระบุที่ตั้ง เมืองลังกาสุกะ ว่าอยู่ห่างจากเมืองปัตตานีสมัยนั้น (บ้านกรือเซะ อำเภอเมืองปัตตานี) ไปทางตอนเหนือของลำน้ำปัตตานี คือบริเวณ เมืองโบราณ ที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี

อาณาจักรลังกาสุกะปรากฏโดดเด่นขึ้นมาโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ทำให้เราเรียกแหล่งที่ค้นพบโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมายในบริเวณนี้ว่า แหล่งโบราณคดียะรัง
แหล่งโบราณคดียะรังมีความสำคัญขึ้นเพราะการขุดค้นหลายครั้งทั้งโดยนักโบราณคดีภายในประเทศและต่างประเทศ พบว่าที่นี่อาจจะเป็นที่ตั้งของอาณาจักรลังกาสุกะที่ปรากฏในเอกสารและจดหมายเหตุทั้งของจีน อินเดีย ลังกา ชวา มลายู ชาติยุโรป ฯลฯ ซึ่งในหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมามีความรุ่งเรืองอย่างมากในระหว่าง พ.ศ.700-1400 เชื่อว่าความเจริญของราชอาณาจักรลังกาสุกะอยู่ ณ บริเวณที่ปัจจุบันคือ บ้านวัดชื่อที่ชาวมุสลิมเรียกหลังจากพบซากโบราณสถาน เทวรูป และพระพุทธรูปจำนวนมากในบริเวณนั้น จึงเข้าใจว่าเป็นวัดเก่า ที่เรียก บ้านวัดคงจะเพราะชาวมุสลิมทั่วไปเรียกวัดว่า วะโดยทับศัพท์ภาษาไทยแต่ออกเสียงเป็นมลายูถิ่น ภูมิสถานนามว่า บ้านวัดจึงถูกตั้งอย่างเป็นทางการ

จากการสำรวจแหล่งโบราณคดีที่ขุดพบอยู่ในพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตรมีอยู่ 3 แห่ง คือที่บ้านวัด บ้านจาเละ และบ้านประแว เรียงจากอายุเก่าที่สุดไปหาน้อย พบเมืองที่มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูขนาด 500x550 เมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีกำแพงล้อมโดยรอบสามชั้น และมีซากโบราณสถาน สถูปเจดีย์ เทวรูป พระพุทธรูป เศษภาชนะมากมายอยู่ในเนินดินบริเวณกว้าง โบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่พบมีทั้งสถูปจำลองดินดิบและดินเผาจำนวนมาก มีลักษณะนูนต่ำรูปท้าวกุเวรพุทธเจ้าประทับนั่ง ขนาบด้วยสถูปจำลองทั้งสองข้าง และสถูปจำลองที่ฐานด้านล่างจารึกคาถาเยธัมมา
นอกจากนี้ยังพบเศษภาชนะดินเผา เครื่องถ้วยเปอร์เซีย เครื่องถ้วยเซลาดอนซึ่งร่วมสมัยกับศิลปะทวาราวดี เฉพาะซากสถูปเจดีย์ขนาดใหญ่พบถึง 33 แห่ง รวมทั้งสถูปจำลองทรงฉัตรวลีเป็นอันมาก [3] ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของชื่อ โกตามะห์ลิฆัย” (Kota Mahligai) ซึ่งแปลว่า นครแห่งสถูปอันเป็นชื่อที่รู้จักกันในชั้นหลัง คือหลังจากที่อาณาจักรนี้ถูกทำลายลงในราว พ.ศ.1573-74 โดยกองทัพของพระเจ้าราเชนทร์โจฬะแห่งอินเดียใต้

ชื่อ ลังกาสุกะปรากฏในเอกสารของอินเดียว่า อีลังกา โสกา” (Ilangka Soka) ในภาษามลายูคำว่า อลังกะห์ซูกะ” (Alangkah suka) ประกอบด้วยคำว่า อลังกะห์กับคำว่า ซูกะ” (suka, sukha/สุขะ) แปลรวมกันว่า ช่างมีความสุขความรื่นรมย์เสียนี่กระไรหรือแปลเอาความได้ว่า ลังกาสุกะนี้เป็นบ้านเมืองที่มีแต่ความสุขความรื่นรมย์

ม้าฮวน ชาวจีนผู้มีประสบการณ์จาการเดินทางไปกับกองเรือรบของ นายพลเซ็งโห ผู้รับสนอง พระบรมราช โองการ จากพระเจ้า จักรพรรดิ์ ราชวงศ์หงวน ให้นำคณะฑูตออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ด้านเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร กองเรือของนายพลเซ็งโห ออกเดินทางจากจีน ตระเวนไปตามเมืองต่างๆ จนถึงอ่าวเปอร์เซีย และชายฝั่งอาฟริกาตะวันออก ผ่านอ่าวไทยถึง ๗ ครั้ง เคยแวะเยี่ยม ราชอาณาจักร สยาม ๒ ครั้ง ในปี พ.ศ.๑๙๕๐ เพื่อทำการไกล่เกลี่ยกรณีที่ปรเมศวร เจ้าเมืองมะละกา ร้องเรียนต่อพระเจ้าจักรพรรดิ์จีน กล่าวหาว่า ไทยยกกองทัพไปรุกรานเมืองมะละกา เหตุเพราะมะละกาทำการแข็งเมือง ไม่ยอมสงเครื่องราชบรรณาการ ในบันทึก ของม้าฮวน ได้กล่าวถึงเมืองลังกาสุกะว่า รัฐนี้ตั้งอยู่บนแหลมมลายูตรงเส้นรุ้งที่ ๖ .๕๔"- เหนือ

หนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๔ (ภาคผนวก) ก็ว่า จังหวัดปัตตานีตั้งอยู่ตรงเส้นละติจูด ๐๖-๕๑'-๓๐" เหนือ เช่นเดียวกับที่ม้าฮวนได้บันทึกไว้
หวัง-ต้า-หยวน เขียนไว้ในหนังสือ เต๋า-อี-ชีห์-ยูเลห์ ว่า ชาวเมืองลังยาเสี่ยว "ทั้งชายหญิงไว้ผมมวย ใช้ผ้าฝ้ายนุ่งห่ม และรู้จักการ ต้มน้ำทะเล เพื่อให้ได้เกลือมาใช้"

การทำนาเกลือ เพื่อใช้บริโภค และจำหน่ายในจังหวัดภาคใต้ มีอยู่ที่เมืองปัตตานี ทำเป็นสินค้าจำหน่ายมาแต่ต้นสมัยอยุธยาแล้ว ประวัติเมือง ปัตตานี ได้กล่าวถึงการทำนาเกลือไว้ชัดเจนในสมัยนางพญาฮียาและนางพญาบีรูปกครองเมืองปัตตานี แต่ไม่ปรากฏว่า เมืองใกล้เคียง ทำนาเกลือเป็น ทั้งที่บ้านเมืองเหล่านั้นก็อยู่ใกล้ทะเล มีสภาพที่ดินคล้ายคลึงกัน พอที่จะใช้ในการทำนาเกลือได้ ดังปรากฏ หลักฐาน ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ความตอนหนึ่ง เมื่อพระเจ้าอู่ทองตรัสถามพญาศรีธรรมโศกราชว่า "เมืองของท่านขัดสิ่งใดเล่า แลพญาศรีธรรมโศกราชว่า ขัดแต่เกลือ อาณาประชาราษฎร์ไม่รู้จักทำกิน และพระเจ้าอู่ทองว่า จงให้สำเภาเข้ามาจะจัดให้ออกไป"
การที่พงศาวดารจีนบันทึกไว้ว่า ชาวเมืองหลังยะเสี่ยว (หรือลังกาสุกะ) รู้จักการทำนาเกลือใช้ และไม่มีหัวเมืองใด ในภาคใต้ รู้จักการทำนาเกลือ นอกจากชาวเมืองปัตตานีเท่านั้น ย่อมเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า เมืองปัตตานีน่าจะเป็นที่ตั้งเมืองลังกาสุกะได้


ที่มา : หนังสือ ประวัติเมืองลังกาสุกะ - เมืองปัตตานี /ผู้เขียน อนันต์ วัฒนานิกร และ สถาบันข่าวอิศรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น