จาก "มารา ปาตานี" สู่ "มาราฯพลัส"
กับยุทธศาสตร์ช่วงเปลี่ยนผ่านโต๊ะพูดคุย
แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงหลายเดือนมานี้
เกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
จนไม่มีใครคาดเดาได้ว่าโครงสร้างและองค์ประกอบของโต๊ะพุดคุยจะยังเหมือนเดิมหรือไม่
แต่กลุ่ม "มารา ปาตานี" ที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่ม ซึ่งอ้างว่ามี "บีอาร์เอ็น" รวมอยู่ด้วย
และได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยฯกับรัฐบาลไทยมาตั้งแต่ปี 58 ก็ยังเดินหน้าทำงานของตัวเองต่อไป
ทั้งๆ ที่มีข่าวว่า "มารา ปาตานี" อาจถูกลดบทบาทลง เพราะไม่ได้เป็น "ตัวจริง" ที่ควบคุมสถานการณ์และกลุ่มติดอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้
ช่วงที่ผ่านมา "มารา ปาตานี" ได้เชิญภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ
ในพื้นที่ชายแดนใต้ไปพูดคุยกันที่มาเลเซีย
เนื้อหาของการพูดคุยมีทั้งการทำความเข้าใจในเรื่องแนวคิด วิธีการทำงาน
ตลอดจนปัญหาของกระบวนการพูดคุยฯ และท่าทีของรัฐบาลไทย
เป็นที่น่าสังเกตว่า
จังหวะเวลาที่ "มารา ปาตานี" เชิญภาคประชาสังคมจากชายแดนใต้ไปพูดคุย
เป็นช่วงที่รัฐบาลมาเลเซียเปลี่ยนตัว "ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย" จาก ดาโต๊ะซัมซามินเป็น ตันสรี อับดุลราฮิม นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลเซียแล้วด้วยซ้ำ
และที่น่าสนใจก็คือ
มีการเชิญภาคประชาสังคมที่เป็นคนพุทธข้ามไปพูดคุยกันด้วย และหนึ่งในนั้นก็คือ บุษยมาส อิศดุลย์ ประธานกลุ่มเยาวชนนอกระบบบ้านบุญเต็ม
ซึ่งทำงานด้านการดูแลสิทธิของเยาวชนในคดีความเบื้องต้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
"ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะได้เจอกับมาราฯ
แต่ก็ได้เจอ มีผู้ชาย 4 คน คนหนึ่งทำหน้าที่เป็นโฆษกของมาราฯ
และมาจากบีอาร์เอ็น เราเจอในประเทศมาเลเซีย ได้พูดคุยกัน
ได้รับฟังในสิ่งที่กลุ่มเขาทำ" บุษยมาส บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการพบปะ
"คนของมาราฯ
บอกว่าไม่อยากได้ยินเรื่องใครตัวจริง ตัวปลอม ตามที่ใครๆ พูดกัน
เขาบอกว่ากว่าจะมารวมตัวกันได้ กว่าจะตกลงกันได้ก็มีปัญหาภายใน
และพวกเขาก็ตกลงกันว่าจะใช้ชื่อในการพูดคุยฯหลังจากนี้่ว่า มาราฯ พลัส"
คำว่า "มาราฯ พลัส" ตามที่บุษยมาสเล่า
น่าจะแฝงนัยของการสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคมไปร่วมในปีกของ "มารา ปาตานี" ซึ่งถือเป็นการทำงานแบบก้าวกระโดดของมาราฯ
เพราะในฝั่งคณะพูดคุยฯตัวแทนรัฐบาลไทย ยังจัดทัพภายในกันอยู่เลย
ในส่วนของ "ข้อเรียกร้อง" ที่ว่ากันว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กระบวนการพูดคุยฯต้องหยุดชะงักไปตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ในมาเลเซียเดือน
พ.ค.61 โดยเฉพาะเรื่อง "พื้นที่ปลอดภัย" ประเด็นนี้ "มารา ปาตานี"มีคำอธิบาย
"เขาบอกว่าแต่ละคนก็มีข้อเรียกร้อง
มีข้อเสนอมารวมกัน ข้อเรียกร้องร่วมมี 3 ประเด็นที่เขาเคยยื่นมาก่อนแล้ว
และได้นำร่องไปแล้วในเรื่องของการจัดตั้งเซฟตี้โซน (พื้นที่ปลอดภัย)
ซึ่งจะแตกต่างจากการตั้งเซฟเฮาส์
และมีคณะกรรมการทำงานในพื้นที่ที่มาจากการเสนอของทั้ง 2 ฝ่าย"
นี่คือส่วนของข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับ "พื้นที่ปลอดภัย" ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลไทยทำฝ่ายเดียวอยู่
ขณะที่ข้อเรียกร้องหลักอื่นๆ ก็มีอีก 3 ข้อ
"มีเรื่องของการปกครองพิเศษแบบที่ไม่แบ่งแยกดินแดน
การใช้ภาษา และความเป็นอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่
แต่ในรายละเอียดเราต้องรอดูว่าเขาจะเสนออะไรบ้างและรัฐบาลไทยจะว่าอย่างไร
โดยมาราฯบอกว่าเขาตั้งใจจะเสนอให้รัฐบาลไทยหลังจบการเลือกตั้ง (ของไทย)
ซึ่งหมายถึงภายใน 15 เดือนหลังจากนี้" บุษยมาส บอก
ข้อสรุปของทิศทางการพูดคุยหลังจากนี้ของ "มารา ปาตานี" หรือ "มาราฯ พลัส" จากข้อมูลของบุษยมาสก็คือ
พวกเขาจะยื่นข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น
ซึ่งแม้จะใช้เวลา แต่ตัวแทนภาคประชาสังคมจากชายแดนใต้อย่างบุษยมาส ก็พร้อมที่จะรอ
และคาดหวังว่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
"เราเองก็หวังว่าหลังจากนี้อีก
15 เดือนจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ก็คือรอให้รัฐบาลนิ่งก่อน และมีการพูดคุยกันอย่างสันติ
แล้วทุกอย่างก็จบลงด้วยดีบนโต๊ะเจรจา รับข้อตกลง ไม่เหมือนกับ 5 ครั้งที่ผ่านมาที่ทำแล้วหาย ไม่เกิดข้อตกลงอะไรเลย"
ในทัศนะของบุษยมาส
เธอเห็นว่ารัฐบาลไทยรับฟังและยอมรับข้อเสนอ
ตลอดจนข้อเรียกร้องของผู้เห็นต่างจากรัฐน้อยเกินไป
"รัฐไทยพยายามทำให้เราเห็นว่ามีกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนอยู่จริง
มีบีอาร์เอ็น มีพูโล มีมารา ปาตานี รัฐบาลไทยพยายามสื่อให้เราเห็นว่ามันมี
แต่ในขณะเดียวกันทางฝั่งรัฐบาลเองก็ทำให้เราเห็นว่าเขาไม่รับฟัง
เพราะฉะนั้นเมื่อไม่รับฟัง ปัญหาก็ยังคงอยู่ ถามว่ามันจะสิ้นสุดที่ตรงไหน" เป็นความค้างคาใจของบุษยมาส
ส่วนข้อสงสัยจากหลายฝ่ายที่ว่าเหตุใดเมื่อกระบวนการพูดคุยเริ่มต้นแล้ว
การก่อเหตุรุนแรงยังคงอยู่ เรื่องนี้ "มารา ปาตานี" ก็มีคำตอบเหมือนกัน
"เขาให้ข้อสังเกตว่าทุกครั้งที่มีการเปิดโต๊ะเจรจาพูดคุยกัน
ฝั่งรัฐบาลไทยก็ไป แต่ไม่ว่าจะมีข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องอะไร
รัฐบาลไทยไม่เคยลงนามอะไรเลย แม้แต่บันทึกข้อตกลง คุยกันทีไรฝั่งไทยเราก็เฉย
แล้วก็นิ่ง แล้วก็หาย ตรงนี้จึงเป็นประเด็นที่ไม่เกิดข้อตกลง และฝั่งมาราฯก็ไม่ได้รับการชี้แจงหรือคำตอบอะไร
ก็เลยเป็นที่มาของประเด็นปัญหาคาราคาซังจนถึงทุกวันนี้"
"เขา (มารา ปาาตานี) ก็คาดหวังที่จะให้เกิดความสงบ มาราฯใช้คำว่าเป็นประเด็นสันติภาพ ไม่ใช่สันติสุข
ก็แสดงว่ามันมีนัยอะไรในประเด็นสันติภาพ แต่ฝั่งของคนไทยเรา เราเรียกร้องสันติสุข
ซึ่งมันก็ไม่ตรงกับความคิดเห็นของทางมาราฯ
เพราะเป็นแบบนี้เราก็จะต้องมาคิดว่าจะทํากันอย่างไรต่อไป"
บุษยมาส กล่าว
ทั้งหมดนี้คือกระแสข่าวและความเคลื่อนไหวของ "มารา ปาตานี" คู่พูดคุยของรัฐบาลไทยเพื่อยุติความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ในห้วงเวลาที่ข่าวคราวจากพวกเขาเงียบหายไปจากสื่อกระแสหลักบ้านเรา