31 มีนาคม 2560

"ร่องรอยจางๆ ของ isis ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย"


เนื่องมาจากเครือข่าย is ได้แผ่ขยายเครือข่ายของเขามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่นั่นก็ยังไม่ชัดเจนหรือยังคลุมเครือว่ากลุ่มก่อความไม่สงบกลุ่มนี้ได้ทำให้เกิดการรุกราน หรือโจมตี หรือก่อความไม่สงบในพื้นที่ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

นับตั้งแต่ชาวมุสลิมใน จชต. เริ่มเข้าร่วมกับกลุ่ม is ในปี  พ.ศ.2557 ซึ่งไม่มีรายงานที่น่าเชื่อถือว่ากลุ่มมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ จาก จชต.ได้เข้าร่วมกับกลุ่ม ญีฮาดระดับโลกนั้น  ดูเหมือนจะเปลี่ยนไปเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจของไทย กล่าวไว้เมื่อวันที่ 7 ก.พ.60 ว่า 1 ใน 6  ของสมาชิก isis  ที่ถูกจับในข้อหาครอบครองวัตถุระเบิด ที่รัฐกลันตัน ตอนเหนือ ของมาเลเซียชายแดนติดกับไทยนั้น  ปรากฏว่าเป็นสมาชิกของขบวนการ BRN ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่ต่อสู้กับรัฐบาลไทยในภูมิภาคนี้  ชาวมุสลิมจาก 3 จชต.ของไทย ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามภาคใต้ตอนล่าง โดยมีส่วนเกี่ยวข้องทางด้าน เชื้อชาติ  และศาสนา กับกลุ่มนักรบญีฮาด

มีความเชื่อมโยงกับกลุ่ม isis ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า BRN พยายามที่จะหลีกเลี่ยง ตราสัญลักษณ์ sadifi  jihadism ของกลุ่ม isis รวมถึงความทะเยอทะยานของพวกเขาที่จะก่อตั้งเป็น หัวหน้าศาสนาอิสลามของโลกและมีแรงผลักดันที่จะปลดปล่อยจากการปกครองของประเทศไทยตามที่ 2 แหล่งข่าวที่เชี่ยวชาญในพื้นที่นี้ โดยทางการไทยได้เตือนคู่กรณีคือมาเลเซียเมื่อ 1 ปีก่อนนี้ เกี่ยวกับผู้ต้องสงสัยดังกล่าวว่าเป็นกลุ่ม isis ชื่อ uzman  jeh-umong  อายุ 40 ปี ได้หลบซ่อนตัวในรัฐกลันตันของมาเลเซีย  ตั้งแต่การจับกุมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์  มาเลเซียได้ปฏิเสธการส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาโดยตลอด ทางการไทยกล่าว และในขณะเดียวกันแหล่งข่าวแจ้งว่าผู้ต้องหาคนดังกล่าวได้ถูกปล่อยตัวไปแล้ว  ที่ผ่านมาข้าราชการ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงของไทยและมาเลเซียมีประวัติศาสตร์ความขัดแย้งยาวนานในการจัดการกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเชื้อสายมุสลิมมาเลย์ โดยใช้มาเลเซียเป็นสถานที่วางแผนระดับปฏิบัติการ ทางการไทยจับตาดูคู่กรณีมาเลเซียมาโดยตลอดโดยเฉพาะชายแดนที่ตัดผ่านมาในรัฐกลันตันที่ชาวมาเลย์พูดภาษาท้องถิ่นคล้ายกับภาษาพูดในฝั่งไทย โดยที่มาเลย์เพิกเฉยต่อการเรียกร้องของไทยต่อการปราบปรามกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ของไทย   ทางการมาเลย์ได้ปิดปากเงียบเกี่ยวกับการจับกุมผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับ isis ที่ยังไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดต่อสื่อเกี่ยวกับ uzman หรืออีก 5 คน ที่ถูกคุมขังซึ่งทางการไทยเชื่อว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย BRN แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ isis  พวกเขาอ้างว่า Uzman คือหัวหน้า RKK แทนที่จะเป็นหน่วยคอมมานโดของ BRN ใน จชต.ในขณะเดียวกันหลาย แหล่งข่าวกล่าวว่าด้วยจำนวนทหารและสมาชิกใหม่ของ isis ที่เพิ่มขึ้นในมาเลเซีย จะเป็นสัญญาณบ่งบอกได้ว่า กลุ่มแบ่งแยกดินแดนบางกลุ่มอาจกำลังสื่อสารกับสมาชิก กลุ่ม isis ในมาเลเซีย

มาเลเซียได้พยายามอย่างมากในการต่อต้านการก่อการร้ายเพื่อหยุดยั้งความรุนแรงที่หนักขึ้นในมาเลเซีย เมื่อวันที่ 5 มี.ค.60 ทางการมาเลเซียได้เปิดเผยว่ามีชาย 7 คน รวมถึงชาวอินโดนีเซีย 1 คน ได้ถูกจับกุมเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เนื่องจากพัวพันในการปลุกระดม และปลุกปั่นจาก isis

แหล่งข่าวในประเทศไทยชี้ให้เห็นว่าทางการมาเลย์ มีแนวโน้มที่จะใช้ประโยชน์จากการคุกคามของisis จากการเบี่ยงเบนความสนใจจากสาธารณชนเรื่องความอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริต ของรัฐบาล นาจิบ  ตุนราซัค  ถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากบริษัทพัฒนาของรัฐเข้าบัญชีของตนเอง ซึ่งนาจิบได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว ในขณะที่สมาชิก BRN บางคนเป็นที่ทราบกันดีว่ามีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับกลุ่ม pan-islamist การเคลื่อนไหวของดลุ่มก่อการร้ายได้ปิดกั้นกลุ่มก่อความไม่สงบภายนอก รวมทั้งกล่ม JI ที่ตั้งขึ้นในอินโดนีเซียจากการสร้างฐานและการโจมตีจากพื้นที่ควบคุมของพวกเรา JI เป็นผู้ก่อเหตุระเบิดในอินโดนีเซียปี 2545 ที่กล่าวกันว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คน ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวตะวันตก และมีการระเบิด รร.นานาชาติ ณ กรุงจาการ์ตา

นั่นเป็นเพียงเหตุผลบางส่วนว่าทำไมแหล่งข่าวความมั่นคงเชื่อว่า BRN ซึ่งพยายามหลีกเลี่ยงอุดมการณ์จากชาติตะวันตกและชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลามในภูมิภาคจะยังคงปฏิเสธคำขอใดๆของ isis ในการจัดตั้งที่อยู่ และที่ฝึกจากภูมิภาคที่ควบคุมยาก  "มันเป็นความขัดแย้งของพวกเขา" คำพูดของนายพลไทยที่เกษียณท่านหนึ่ง "พวกเขาไม่ต้องการให้กลุ่มอื่นๆ มายุ่งเกี่ยว"

ยังคงมีข่าวลือแพร่สะพัดในหมู่ชาวบ้านท้องถิ่นบางส่วน ซึ่งจำนวนหนึ่งเป็นชาวมุสลิมมาเลย์จาก 3จชต.เดินทางไปซีเรียเพื่อต่อสู้ให้กับisis และสมาชิก isis ชาวมาเลเซียได้ใช้ไทยเป็นทางผ่านเพื่อที่จะไปซีเรียหรืออิรัก

พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร.ได้ยืนยันอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน พ.ย.ปีที่ผ่านมาว่ารายงานของหน่วยข่าวกรองออสเตรเลียอ้างว่าคนไทยให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ isis และผู้ใช้ facebook กว่า 100,000 คน ในประเทศไทยได้เข้าไปเยี่ยมชมกลุ่มออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับ isis เมื่อปีที่แล้ว วันต่อมา พล.ต.อ.ศรีวราห์ฯ กล่าวว่าข้อมูลจากออสเตรเลียไม่ใช่ของไทย และไม่มีการเคลื่อนไหวของ isis ในไทย

ทางการไทยยอมรับว่าการเฝ้าติดตามทางสื่อสังคมออนไลน์แสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนอุดมการณ์ของ isis สำหรับพื้นที่มุสลิมชนกลุ่มน้อย ที่มีปัญหาใน จชต. และเสียชีวิตประมาณ 7,000 คน ในเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2547 พวกเขากล่าวว่ายังคงไม้มีหลักฐานที่ชี้ว่ามุสลิมมาเลย์จะเข้าร่วมกับ isis

วีดีโอและรูปถ่ายที่พบในคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน BRN ที่ต้องสงสัย เนื่องจากความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นในปี ตั้งแต่ปี2547 ได้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนบางกลุ่มได้รับแรงบันดาลใจมาจาก pan-islamist

นอกจากนี้ยังมีความกังวลว่าเครือข่ายปลอมแปลงหนังสือเดินทางที่ยังคงทำงานอยู่ในประเทศไทยได้ปลอมแปลงเอกสารเดินทางสำหรับนักรบญีฮาดภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เพื่อเดินทางไปรบในซีเรียและอิรัก ตามที่เจ้าหน้าที่ไทยคนหนึ่งกล่าว ทางการไทยจะเสนอได้ชัดเจนว่า BRN ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับ isis  นั่นเป็นเพราะความเชื่อมโยงที่ได้รับการพิสูจน์แล้วจะนำมาซึ่งการตรวจสอบของรัฐบาลตะวันตกที่ไม่พึงประสงค์ซึ่งเกี่ยวกับการจัดการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งใน จชต.ของไทย และผู้มีอำนาจที่หัวแข็งในพื้นที่ซึ่งถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิต่อผู้ต้องสงสัยและใช้ความขัดแย้งเพื่อปกปิดกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่นการลักลอบขนนำมันเถื่อนและ การค้ามนุษย์

นักวิเคราะห์และนักการทูตเชื่อว่าถ้ารัฐบาลไทยส่วนกลางกระบวนการเจรจาตามแบบแผนที่มีผลต่อเอกราชในภูมิภาคนี้ อาจทำให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนรุ่นใหม่สามารถถูกยั่วยุและทำงานให้กับกลุ่ม isis  เพิ่มความเสี่ยงจากการโจมตีด้วยการสร้างความหวาดกลัวเป็นวงกว้างในพื้นที่ท่องเที่ยวของไทย แม้ว่ากลุ่มก่อการร้าย BRN จะทำให้เกิดระเบิด  ในพื้นที่ที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในปี พ.ศ.2558 และ 2559 การโจมตีไม่ก่อให้เกิดผู้บาดเจ็บล้มตายแต่อย่างใด การเป็นพันธมิตรกับ isis  ณ จุดนี้ในข้อขัดแย้งจะแสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์สำหรับ BRN และสำหรับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มใดก็ตามในอนาคต แทนที่จะหันมาทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นต่อกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ใช้มาเลเซียเป็นฐาน ซึ่งรัฐบาล kl เคยสนับสนุน ปัจจุบัน กกล.ความมั่นคงของ มาเลย์ถูกคาดหวังให้ปราบปรามอย่างหนักต่อชาวมุสลิมมาเลย์ที่เกี่ยวข้องกับ isis อย่างชัดเจน

นั่นอาจจะดูเหมือนว่าช่วยอธิบายได้ว่าทำไมนักวิเคราะห์พบว่าแทบจะไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเชื้อสายมาเลย์ของไทยและกลุ่มก่อการร้าย pan-islamist ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและทำไมการจับกุมผู้ต้องสงสัย BRN ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่ผ่านมาในมาเลเซียตั้งใจอย่างตรงไปตรงมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าแนวความคิดแบบนี้ยังคงอยู่ 


ที่มา asia  time

30 มีนาคม 2560

โจรใต้ลอบยิง เจ้าหน้าที่ สภ.ระแงะ


เมื่อวันที่ 30 มี.ค. นายสิทธิชัย ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงเหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณสถานีตำรวจภูธรระแงะ จ.นราธิวาส เป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 3 นายและเสียชีวิต 1 นาย ว่า รู้สึกเสียใจที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นในพื้นที่ ซึ่งเมื่อวานนี้เองเพิ่งมีการประชุมหน่วยงานความมั่นคงให้มีการเพิ่มความเข้มงวดและเฝ้าระวังสถานที่ราชการ และตามจุดตรวจ โดยเน้นตรวจสอบบุคคลที่มีพฤติกรรมแปลกๆทั้งที่แต่งกายมิดชิด สวมหมวกกันน๊อคเต็มใบหน้า และมีการเดินทางจำนวนมากๆ และหลังเกิดเหตุได้เดินทางเข้าตรวจสอบพร้อมกำชับให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มและเร่งติดตามคนร้ายโดยเร็ว

ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้เกิดขึ้นขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเข้าแถวเคารพธงชาติ ทำให้มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้ตอบโต้ และปะทะกับคนร้าย และหลังจากเกิดเหตุเจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด พบคนร้าย 5-6 คน นั่งกระบะหลังเป็นกระบะโตโยต้า รุ่นรี่โว่ โดยแต่งกายคล้ายคนงานก่อสร้าง เมื่อผ่านด้านหน้า สภ.ระแงะ คนร้ายได้ใช้อาวุธปืนสงครามที่ซ่อนไว้กราดยิง และได้ขับหลบหนีไปตามเส้นทาง ต บางปอ อ.เมือง จ.นราธิวาส

ส่วนชื่อเจ้าหน้าที่ที่เสียทราบชื่อคือ ส.ต.ท. ศุภักษร สะยุคงทน ผบ.หมู่ สภ.ระแงะ ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บคือ ด.ต.ธีระพงค์ แก้วชำนาญ ส.ต.ต.พงษธร แก้วประดิษฐ์ และ ส.ต.ต พิชิต ทองรส โดนทั้งหมดถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์

จากเมืองลังกาสุกะ...สู่เมืองปัตตานี ตอนที่ 3


…..เมืองโบราณบนแหลมมลายู ที่ปรากฏชื่ออยู่ในศิลาจารึกและจดหมายเหตุชาวจีน อินเดีย และชวา ได้แก่

…..จารึกเมืองตันโจ ของพระเจ้าราเชนทร์ ระหว่างปี พ.ศ.๑๕๗๓-๑๕๗๔ มีชื่อเมือง ที่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออก ของแหลมมลายู ที่พระองค์ อ้างว่า ได้ส่งกองทัพเรือมายึดครองไว้ได้นานถึง ๒๐ ปี คือ เมืองไอลังคโสกะ (ลังกาสุกะ) เมืองตามพรลึงค์ (นครศรีธรรมราช)

…..หนังสือ จู-ฝาน-ชี ของเจาจูกัว ก็ได้เขียนเล่าเรื่องเมืองขึ้นของ
อาณาจักรศรีวิชัยไว้ว่า ในปี พ.ศ.๑๗๖๘ ศรีวิชัยมีเมืองขึ้น ๑๕ เมือง เฉพาะที่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแหลมมลายู ได้แก่ ปอง-ฟอง (ปาหัง) เต็งยานอง (ตรังกานู) หลังยาสิเกีย (ลังกาสุกะ) กิลันตัน (กลันตัน) ตันมาหลิง (นครศรีธรรมราช)

…..หนังสือ เนเกอราเกอรตาคามา ของพระปัญจา นักบวชในลัทธิศิวพุทธแห่งราชอาณาจักรมัชฌปาหิต แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๘ ก็อ้างว่ากองทัพเรือของชวา สามารถเข้ายึดครองเมืองต่างๆ บนแหลมมลายูไว้ได้ คือ ปาหัง ตรังกานู กลันตัน และลังกาสุกะ ในปี พ.ศ.๑๘๓๕

…..จากเอกสารดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ไม่มีชื่อเมืองปัตตานีอยู่เลย ตามประวัติศาสตร์เมืองปัตตานี ฉบับของนายหะยีหวันอาซัน กล่าวว่า เมืองปัตตานี เพิ่งสร้างขึ้นในสมัยของพยาอินทิรา ระหว่างปี พ.ศ.๒๐๑๒ ถึงปี พ.ศ.๒๐๕๗ มีนามว่า "ปัตตานีดารัสสลาม" (นครแห่งสันติ)

.คำ ปัตตานี นี้ เลือนมาจากคำในภาษาสันสกฤต คือ "ปตฺตน" แปลว่า "กรุง, ธานี, นคร, เมือง" ดังจะเห็นได้จากชื่อเมืองหนึ่งของอินเดียภาคใต้ ถิ่นฐานของโจฬะ ที่เคยมายึดครองเมืองลังกาสุกะ คือ เมือง "นาคปตฺตน"

…..สาเหตุที่พญาอินทิรา ย้ายเมืองโกตามหลิฆัยหรือลังกาสุกะ มาสร้างเมืองปัตตานีขึ้นใหม่ ณ บริเวณสันทราย ตำบลตันหยงลุโละ ตำบลบานา ท้องที่อำเภอเมืองปัตตานีในปัจจุบัน จะนำมากล่าวในตอนหลัง

…..ดังนั้น ชื่อของเมืองลังกาสุกะ จึงไม่ปรากฏในเอกสารของชนชาติต่างๆ ที่เดินทางเข้ามาค้าขายในแหลมมลายู หลังจากปี พ.ศ.๒๐๕๔ แต่ปรากฏ ชื่อเมืองปัตตานี หรือตานี ขึ้นมาแทนที่ ดังจะเห็นได้จากเอกสารของพวกพ่อค้าชาวโปรตุเกส ฮอลันดา และอังกฤษ แม่แต่เอกสาร ชาวจีน ระยะหลัง เช่น เรื่องอาณาจักรทางทะเลของปิงหนาน ก็ได้กล่าวถึงเมืองปัตตานีว่า

…..อาณาจักรต้าหนี "ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสงขลา การเดินทางจากสงขลาทางบกใช้เวลา ๕-๖ วัน ทางน้ำ โดยลมมรสุม ประมาณวันเศษก็ถึง ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาทอดเป็นแนวยาวติดต่อกัน อาณาเขตหลายร้อยลี้ จารีตประเพณี และทรัพยากร มีความคล้ายคลึง กับสงขลา ประชากรมีจำนวนน้อย แต่อุปนิสัยดุร้าย ภูเขาที่นี่มีทองคำมาก อาณาจักรนี้ขึ้นกับสยาม แต่ละปี ต้องถวาย เครื่องราชบรรณาการด้วยทองคำ ๓๐ ชั่ง"

…..เรื่องราวของราชฑูต กษัตริย์เมืองลังกาสุกะ ต่อจากรัชสมัยพระเจ้าภัคทัตต์ ปรากฏในจดหมายเหตุจีนต่อมาว่า ในปี พ.ศ.๑๐๖๖-๑๐๗๔ และ พ.ศ.๑๑๑๑ กษัตริย์ลังกาสุกะ ได้ส่งฑูตไปสู่ราชสำนักจีนอีก แต่จีนก็มิได้ให้รายละเอียดอย่างเช่นคราวราชฑูตอชิตะ

…..ครั้นถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ รัฐลังกาสุกะก็เริ่มเสื่อมอำนาจลง จนกระทั่ง ตกไปเป็นเมืองขึ้น ของกษัตริย์กรุงศรีวิชัย และกษัตริย์โจฬะ แห่งอินเดียใต้ ดังปรากฏหลักฐานจารึกที่เมืองตันจอร์ ระหว่างปี พ.ศ.๑๕๗๓-๑๕๙๕ กล่าวว่า

….."พระเจ้าราเชนทร์ส่งทัพเรือไปกลางทะเล และจับพระเจ้าสังกรมวิชยค์ตุงคะวรมันกษัตริย์ แห่งคะดะรัม (เกดาห์) และยึดได้ รัฐปันนาย ที่มีน้ำเต็มเปี่ยม ในอ่างเก็บน้ำ รัฐมลายูโบราณที่มีภูเขาเป็นป้อมปราการล้อมรอบ รัฐมะยิรูดิงคัม ซึ่งล้อมรอบ ไปด้วยทะเล จนดูประหนึ่ง เป็นคูเมือง รัฐไอลังคโสกะ (ลังกาสุกะ) ซึ่งเก่งกล้าในการรบ เมืองบัปปะปะลัม (ปาเล็มบัง) ที่มีน้ำลึกเป็นแนวป้องกัน เมืองเมวิลิมบันกัม ที่มีกำแพงเมือง สง่างาม เมืองวาไลยคุรุที่มีวิไลยพันคุรุ เมืองดาไลยตักโคลัมที่ได้รับการสรรเสริญจากคนสำคัญๆ ว่าเชี่ยวชาญ ทางวิทยาการ รัฐตามพรลึงค์ (นครศรีธรรมราช) ที่ใหญ่ยิ่งสามารถในการรบ เมืองอิลามุรีเดแอมที่ดุเดือดในการรบ เมืองนักกะวารัม ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งมีสวนใหญ่โต มีน้ำผึ้งมาก"

….. หลังจากตีเมืองเหล่านี้ได้แล้ว พระเจ้าราเชนทร์โจฬะ ได้ส่งกองทหารเข้ามายึดครองหัวเมืองในแหลมไทย-มลายูไว้เป็นเวลา ๒๐ ปี ต่อมารัฐศรีวิชัยผู้มีกำลังนาวิกภาพเข้มแข็งก็ได้มาผนวกเอารัฐลังกาสุกะเข้าไปไว้ในอำนาจของตน พร้อมด้วยรัฐต่างๆ อีก ๑๕ รัฐ ตามที่ชาวจีน ชื่อ เจาจูกัว เขียนเล่าไว้ในหนังสือชูผันจิ ดังต่อไปนี้ คือ...

๑. รัฐ เป็ง-โพ็ง (ปอง-ฟอง หรือ ปาหัง?)
๒. รัฐ เต็ง-ยา-น็อง (ตรังกานู?)
๓. รัฐ ลิง-ยา-ลิงเกีย (ลังกาสุกะ)
๔. รัฐ กิ-ลัน-ตัน (กลันตัน)
๕. รัฐ โฟ-โล-ตัน
๖. รัฐ ยิ-โล-ติง
๗. รัฐ เซียม-มาย
๘. รัฐ ปะ-ตา
๙. รัฐ ตัม-มา-หลิง (นครศรีธรรมราช)
๑๐. รัฐ เกีย-โล-หิ (ครหิ-ไชยา)
๑๑. รัฐ ปา-ลิ-ฟอง (ปาเล็มปัง)
๑๒. รัฐ สิน-โค (สุนดาในเกาะชวา)
๑๓. รัฐ เกียน-ปาย
๑๔. รัฐ ลัน-วู-ลิ (ลามูริในเกาะสุมาตรา)
๑๕. รัฐ ซี-ลัน (ซีลอนหรือลังกา)

…..ต่อมาราชอาณาจักรศรีวิชัยได้แตกสลายตัวลง ดี.จี.อี.ฮอลล์ว่า เนื่องจากถูก "พวกไทย ทางแม่น้ำ เจ้าพระยา ฝ่ายเหนือ และอาณาจักร สิงหัดส่าหรี ในชะวาตะวันตกอีกฝ่ายหนึ่ง" โจมตี ทำให้อิทธิพลของกษัตริย์ศรีวิชัยบนแหลมไทย-มลายูต้องเสื่อมอำนาจลง ประการสุดท้าย เกิดจากชาวจีน มีความรู้ ในเรื่องการเดินเรือ และการต่อเรือสำเภาที่มีคุณภาพดี สามารถออกทำการค้าขายกับเมืองต่างๆ ตามหมู่เกาะชวา และติดต่อขายกับพ่อค้าอาหรับ เปอร์เซีย และอินเดียโดยตรง ไม่ต้องผ่านเมืองท่าที่อยู่ในอาณัติของศรีวิชัย ซึ่งเคยเป็น ศูนย์กลางค้า ระหว่าง โลกตะวันตก กับโลกตะวันออก อีกต่อไป ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของศรีวิชัยต้องทะลายลง

ที่มา : หนังสือ ประวัติเมืองลังกาสุกะ - เมืองปัตตานี /ผู้เขียน อนันต์ วัฒนานิกร

***อ่านย้อนหลัง***
จากลังกาสุกะมาเป็นเมือง ปัตตานี ตอน 1
จากลังกาสุกะมาเป็นเมือง ปัตตานี ตอน 2

29 มีนาคม 2560

เจ้าหน้าที่เรียกตรวจสอบรถต้องสงสัยกลับถูกยิงใส่ เกิดปะทะคนร้ายดับ 2 ศพ ที่รือเสาะ


29 มี.ค.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กำลังเจ้าหน้าที่ทหารจากชุดปฏิบัติการข่าวพิเศษ ชปข. ได้สนธิกำลังกับชุดสลาตัน และกำลังทหารพราน ในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ตั้งจุดตรวจบนถนนชนบท ระหว่างพื้นที่บ้านตะบิงลูโตะ หมู่ 8 ต.โคกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เนื่องจากสายข่าวได้แจ้งว่าแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดน ที่ก่อเหตุยิงชาวไทยพุทธ ซึ่งเป็นครอบครัวผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน พร้อมลูกและคนในครอบครัวจำนวน 4 ศพ กำลังกลับเข้าไปเพื่อก่อเหตุยิงชาวไทยพุทธในพื้นที่

ในขณะที่กำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตรวจค้นรถยนต์และจักรยานยนต์ อยู่ได้มีรถของคนร้ายเป็นกระบะ อีซูซุ สีบอร์น ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนเงินขับผ่านมา และพยายามที่จะแหกด่านเพื่อหลบหนี พร้อมทั้งใช้อาวุธปืนยิงเข้าใส่ เจ้าหน้าที่บริเวณจุดตรวจ เจ้าหน้าที่จึง ยิงตอบโต้ หลังสิ้นเสียงปืนจึงได้เข้าครอบพื้นที่ พบว่าคนร้ายเสียชีวิตทั้ง 2 ราย


ทราบชื่อภายหลังว่า นายอาเซ็ง อูเซ็ง อายุ  30 ปี อยู่ที่ 223 / 3 หมู่ 2 ต.รือเสาะ นายอิสมาแอ หามะ อายุ 28 ปี อยู่ที่ 226 หมู่ 2  ต.รือเสาะ อ.รือเสะ จ.นราธิวาส ทั้งสองถูกกระสุนปืนเข้า บริเวณลำตัว และศรีษะ คนละหลายนัด ภายในรถยังพบปืน เอ็ม 16 พร้อมซองกระสุน และปืนพกสั้น ยี่ห้อ บาเร็ตต้า 1 กระบอก พร้อมซองกระสุน และปลอกกระสุน จำนวนมาก จึงยึดไว้เป็นหลักฐาน เพื่อทำการตรวจสอบว่า เป็นปืนที่ถูกปล้นไปจากเจ้าหน้าที่หรือไม่ รวมทั้งการพิสูจน์ว่า ปืนทั้ง 2 กระบอก ได้มีการก่อคดีอะไรมาบ้าง สำหรัยรถยนต์คันที่ใช้ก่อเหตุ เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าเป็นรถยนต์ ที่มีการแจ้งหายหรือไม่



สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย เจ้าหน้าที่พบว่าเป็น 'อาร์เคเค' ระดับหัวหน้าปฏิบัติการ และเป็นชุดที่ก่อเหตุยิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน  ต.โคกสะตอ พร้อมลูกชายอายุ 12 ปี ที่ยังเป็นนักเรียน และคนในครอบครัว เสียชีวิต 4 ศพ เมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

หลังการวิสามัญ สองคนร้ายในครั้งนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้วิทยุด่วน ให้ กำลังทุกชุดในพื้นที่มีการเตรียมพร้อม ในการป้องกันการโจมตีและป้องกันประชาชน ที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอเพราะคนร้าย อาจจะโจมตีเจ้าหน้าที่และประชาชน โดยเฉพาะไทยพุทธ ที่เป็นเป้าหมายอ่อนแอ

จากเมืองลังกาสุกะมาเป็น...เมืองปัตตานี ตอนที่ 2


….ปัจจุบัน การทำนาเกลือ ของชาวเมืองปัตตานี ก็ยังคงได้รับการสืบทอด เป็นอาชีพของชาวบ้านตำบลตันหยงลุโละ ท้องที่อำเภอเมืองปัตตานี

….เมืองลังกาสุกะและเมืองตามพรลึงค์ หรือเมืองนครศรีธรรมราช เป็นบ้านเมืองในยุคเดียวกัน เมืองทั้งสองเคยมีความเจริญรุ่งเรือง และประสบ ภัยพิบัติ จากสงคราม จนต้องตกเป็นเมืองขึ้น ของอาณาจักรศรีวิชัย และของพระเจ้าราเชนทร์ แห่งโจฬะประเทศมาแล้วด้วยกัน เมืองทั้งสอง จึงมีวัฒนธรรม ร่วมกัน หลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งในด้านศาสนา ความเชื่อ โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนา ก่อนที่ จะรับ ลัทธิ ลังกาวงศ์ เมืองนครศรีธรรมราชมีพระเจดีย์ที่มีรูปลักษณะและนามใช้เรียกขานเช่นเดียวกัน ดังปรากฏ หลักฐาน อยู่ในตำนาน พระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ตอนหนึ่งว่า "พระยาศรีธรรมโศกราช ดำริในพระทัยว่า ตัวเรานี้ได้สร้างพระเจดีย์วิหาร และก่อพระพุทธรูป ปลูกไม้พระศรีมหาโพธิ์ และได้ยกพระมาลิกะเจดีย์ที่เมืองอินทปัต และทำประตู ๒ ประตู จ้างคนทำวันละพันตำลึงทอง และพระบรรทม องค์หนึ่ง ทำด้วยสัมฤทธิ์ยาว ๔ เส้น พระเจดีย์สูงสุดหมอก อิฐยาว ๕ วา หนาวา ๑ พระระเบียงสูง ๑๕ วา ระเบียงสูงเส้น ๑ หน้าเสา ๙ ศอก แปย่อมหิน พระนั่งย่อมสัมฤทธิ์ สูงองค์ละ ๑๕ วา ตะกั่วดาด ท้องพระระเบียงหนา ๖ นิ้ว บนปรางกว้าง ๒ เส้น แม่กะไดเหล็กใหญ่ ๔ กำ ลูก ๓ กำ ขึ้นถึงปรางบน หงษ์ทอง ๔ ตัว ย่อมทองเนื้อ แล้วมาทำมาลิกะเจดีย์ ปลูกพระศรีมหาโพธิ์ และจำเริญ พระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช"

….คำ "พระมาลิกะเจดีย์" ของเมืองนครศรีธรรมราชนี้ เป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งของเมืองปัตตานีในอดีตคือ เมืองโกตามหลิฆัย (โกตา = เมือง หรือ ป้อมปราการ มลิฆัย (maligei) = เจดีย์หรือปราสาทราชวัง) เป็นคำยกย่อง สรรเสริญ บ้านเมือง สมัยนั้นว่า เจริญรุ่งเรือง ด้วยศิลปะ สถาปัตยกรรม ทางการสร้างสรรค์พระมหาเจดีย์ และปราสาทราชวัง ดุจดังที่ศรีปราชญ์ กล่าวไว้ในโคลง ที่ท่านเขียนขึ้น เพื่อเชิดชูเกียรติ กรุงศรีอยุธยาว่า

อยุธยายศยิ่งฟ้า ลงดิน แลฤา
อำนาจบุญเพรงพระ ก่อเกื้อ
เจดีย์ละอออินทร์ ปราสาท
ในทาบทองแล้วเนื้อ นอกโสม

….คำ มลิกะ นั้น ทางปัตตานีเรียก Maligai (มะลิไฆ) เป็นภาษาทมิฬ เข้าใจว่าปัตตานีสมัยลังกาสุกะรับมาจากอินเดียใต้ สมัยที่ พระเจ้าราเชนทร์ เข้ามายึดครองเมืองลังกาสุกะและเมืองตามพรลึงค์ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ทางเชิงช่างศิลปไทย เรียกเจดีย์มะลิกะ หรือเจดีย์มะลิไฆ ว่า ทรง ฉัตราวาลี พระเจดีย์แบบนี้ นอกจากจะมีการสร้างขึ้นที่เมืองลังกาสุกะและเมืองตามพรลึงค์ (นครศรีธรรมราช) แล้ว ปรากฏว่ายังมีอยู่ที่เกาะสุมาตราตอนกลางที่มัวราตากุสอีกด้วย ซึ่งต่างก็รับอิทธิพลมาจากรูปแบบการช่างของอินเดียใต้

พระมาลิกะเจดีย์ของเมืองนครศรีธรรมราช มีผู้สันนิษฐานว่า เมื่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราช รับเอา พระพุทธศาสนา แบบลังกาวงศ์ ในราว พุทธศตวรรษ ที่ ๑๗-๑๘ ก็ได้สร้างพระมหาธาตุเจดีย์องค์ปัจจุบันครอบคลุมมาลิกะเจดีย์องค์เดิมไว้ (สาสน์สมเด็จ ฉบับวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๘)

….ที่เมืองลังกาสุกะ (อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี) ปัจจุบันยังคงร่องรอยรากฐานเจดีย์น้อยใหญ่หลายองค์ ในท้องที่ตำบลยะรัง ตำบลวัด และพบเจดีย์ดินเผาจำลอง (แบบมาลิกะเจดีย์) ในบริเวณเมืองโบราณแห่งนี้อีกเป็นจำนวนมาก

จากการสำรวจแหล่งชุมชนโบราณในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ บ้านโคกอิฐ ตำบลพะร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส บริเวณ สนามบิน และวัดคูหาภิมุข จังหวัดยะลา บ้านป่าบอน อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งตำนานเมืองไทรบุรี-ปัตตานี ระบุว่า เคยเป็นที่ตั้ง เมืองปัตตานี มาครั้งหนึ่ง แหล่งชุมชนดังกล่าวปรากฏว่า มีซากโบราณวัตถุสถานน้อยกว่าบริเวณชุมชนในท้องที่อำเภอยะรัง โดยเฉพาะ ในเขต ท้องที่ตำบลยะรัง ตำบลวัด ตำบลปิตุมุดี และใกล้เคียงในพื้นที่ ๕ ตารางกิโลเมตร มีโบราณวัตถุ สถาน อันมี คุณค่า ทาง ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีที่พบแล้ว ดังนี้...

….โบราณสถาน ได้แก่ ฐานเจดีย์และเนินดิน ประกอบด้วยอิฐที่มีลักษณะแบบอิฐสมัยทวารวดี ศรีวิชัย สลักหักพัง กระจายอยู่ ในท้องที่ บ้านประแว บ้านใหม่ บ้านวัด บ้านปิตุมุดี มากกว่า ๓๐ เนิน(ย่อ)
โบราณวัตถุ พบพระพุทธรูปศิลาสมัยทวารวดีประทับยืน ปางประทานพร ๑ องค์ และปางอาหูยมุทรา (ปางกวักพระหัตถ์) อีก ๑ องค์ สูงขนาด ๖๐ เซนติเมตร ชาวบ้านพบที่บริเวณทุ่งนาบ้านกำปงบารู ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดป่าศรอำเภอยะหริ่ง และ วัดตานีนรสโมสร วัดละ ๑ องค์

….พระพุทธรูปนูนต่ำ แกะในแผ่นศิลาแดงสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด ๖ นิ้ว เป็นรูปพระโพธิสัตว์ อมิตาภะ พุทธเจ้า พบอยู่ในซาก องค์พระเจดีย์ ที่บ้านกำปงบารู ตำบลยะรัง

ธรรมจักรศิลา สูง ๑๓ เซนติเมตร วงล้อกว้าง ๒๖ เซนติเมตร มีกงล้อ ๘ อัน ไม่มีลวดลายแกะสลักประดับตกแต่งวงล้อ ปัจจุบัน เก็บรักษาอยู่ที่วัดตานีนรสโมสร อำเภอเมืองปัตตานี

….กุฑุ หรือ ซุ้มเรือนแก้ว ทำด้วยปูนปั้นผสมกรวดทราย มีลวดลายดอกไม้แบบศิลปอมรวดี คล้ายรูปจำหลักศิลาที่นาคารซุนกอนดา ประเทศอินเดีย(ย่อ) ปัจจุบันมอบให้ศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติจังหวัดสงขลาเก็บรักษาไว้

สถูปดินเผาจำลอง พบเป็นจำนวนมากอยู่ในซากองค์พระเจดีย์ ที่บ้านกำปงบารู ตำบลยะรัง มีหลายขนาดหลายรูปแบบ (วารสารเมืองโบราณ ธันวาคม ๒๕๒๑ เรื่อง ศิลปะแบบทวารวดีที่ปัตตานี)

….ศิวลึงค์ รูปสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ มีลักษณะใกล้เคียงองคชาติมาก ส่วนยอดเป็นรูปกลมเหมือนของจริง เรียกว่า "รุทธภาค" ท่อนกลางเป็นรูปเหลี่ยม ๘ เหลี่ยม เรียกว่า "วิษณุภาค" ฐานล่างทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส เรียกว่า "พรหมภาค" สูง ๔๔ เซนติเมตร พบที่กูโบ หรือสุสานบ้านยะรัง(ย่อ), องค์ที่ ๒ วิทยาลัยครูยะลาเป็นผู้นำไปเก็บรักษาไว้ องค์ที่ ๓ มีขนาดย่อมกว่า พบที่บ้านป่าศรี พระภิกษุวัดป่าศรี (ย่อ)

แม่พิมพ์ต่างหู ใช้สำหรับหลอมต่างหูด้วยโลหะ เช่น สำริด หรือตะกั่ว ทำด้วยศิลาสีดำ และศิลาสีแดง รวม ๒ พิมพ์ เป็นรูป สี่เหลี่ยม จัตุรัสขนาด ๑๒ x ๒ เซนติเมตร แม่พิมพ์สีแดงพบภายในกำแพงเมืองโบราณบ้านประแว ตำบลยะรัง ลักษณะ รูปแบบ ของแม่พิมพ์ คล้ายกับแม่พิมพ์ต่างหู ที่พบที่เมืองออกแก้ว ประเทศเวียดนาม เมืองโบราณที่อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เมืองนครปฐม บ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี และเมืองโบราณจันเสน จังหวัดนครสวรรค์ ปัจจุบัน มอบให้ศูนย์ศึกษา เกี่ยวกับ ภาคใต้ เก็บรักษาไว้

….โยนีโธรณ ทำด้วยศิลา สัญญลักษณ์แทนองค์พระอุมา เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๘๐ เซนติเมตร ยาว ๑ เมตรเศษ ที่กึ่งกลาง เจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาด ๖ x ๖ สำหรับวางองค์ศิวะลึงค์ และเซาะร่องรอยริมขอบแผ่นโยนีโธรณ พบในสวน ชาวบ้าน ตำบลวัด ขณะขุดหลุมปลูกแตงกวา ชาวบ้านเรียก "ตาเปาะฆาเยาะ" (รอยเท้าช้าง) ได้มอบให้ พิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา นำไปเก็บรักษาไว้

แท่นหินบดยา รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีฐานสี่เหลี่ยมสูง ๑๓ เซนติเมตร กว้าง ๒๒ เซนติเมตร ยาว ๔๕ เซนติเมตร พบที่บ้านต้นทุเรียน ตำบลยะรัง ๒ แท่น และที่บ้านตามางัน ๑ แท่น ชาวบ้านเรียก "ลือชงยาวอ" (ครกชวา) ส่วนลูกกลิ้งหินบด พบเพียง ส่วนชำรุด รูปลักษณะ คล้ายหินบดที่พบตามเมืองโบราณในภาคกลางดังที่กล่าวมาแล้ว

….พระสุริยเทพ ทำด้วยสำริดขนาด ๒๐.๓๐ x ๑๐.๓๐ เซนติเมตร ประทับยืนเหนือแท่นปทุมอาสน์ บนราชรถเทียมด้วยม้า ๗ ม้า มีพระอรุณเทพ ทำหน้าที่สารถี นั่งบังคับม้ามาด้านหน้า ด้านข้างประกอบเทพบริวาร ๔ องค์ คือ ทัณฑีเทพ ปิงคละเทพ และ เทพธิดา มีนามว่า ปรัตยุตาเทพีและอุษาเทพี นั่งมาในราชรถ พบที่บริเวณบ้านกูวิง ปัจจุบันตกไปเป็นสมบัติของเอกชน (พระสุริยะสำริด พบที่เมืองโบราณอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี โดยผาสุข อินทราวุธ วารสารมหาวิทยาลัยศิลปากร ฉบับภาคปลายปีการศึกษา ๒๕๒๙)

….นอกจากนี้ยังพบเทวรูปนารายณ์ และชิ้นส่วนของนางตารา ทำด้วยสำริดที่ใกล้บริเวณบ้านเกาะหวาย ตำบลวัด ชาวบ้านเรียก พื้นที่ พบโบราณวัตถุนี้ว่า "วะสมิง" (วัดสามี) ปัจจุบันพระภิกษุรูปหนึ่งนำไปหล่อพระพุทธรูปแล้ว

….โบราณวัตถุสถาน และเรื่องราวในจดหมายเหตุของชนชาติต่างๆ ที่กล่าวแล้ว แสดงว่า บริเวณเมืองโบราณ ในท้องที่ตำบลยะรัง ตำบลวัด ตำบลปิตุมุดี อำเภอยะรัง ในอดีตน่าจะเป็นศูนย์กลางของที่ตั้งเมืองลังกาสุกะ มิฉะนั้นคงจะไม่ปรากฏซากโบราณ และชิ้นส่วน โบราณวัตถุ ที่มีอายุไม่น้อยกว่าปีพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๒ ขึ้นไป โดยเฉพาะซากโบราณสถานและโบราณวัตถุเนื่องในศาสนาพุทธ สาสนาพราหมณ์นั้น เมื่อชาวเมืองเปลี่ยนจากการนับถือศาสนาพุทธ มารับศาสนาอิสลามในระหว่างปี พ.ศ.๒๐๑๒ ถึงปี พ.ศ.๒๐๕๗ แล้วนั้น น่าจะถูกทำลาย หรือ นำไปจำหน่าย แลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นๆ จนหมดสิ้น เฉพาะโบราณวัตถุจำพวกสำริด ซึ่งเป็นของมีค่าและหายากในท้องถิ่น จึงคงมีเหลือ อยู่น้อยมาก

##อ่านย้อนหลัง##
จากลังกาสุกะมาเป็นเมือง ปัตตานี ตอน 1


ที่มา : หนังสือ ประวัติเมืองลังกาสุกะ - เมืองปัตตานี /ผู้เขียน อนันต์ วัฒนานิกร

28 มีนาคม 2560

จากเมืองลังกาสุกะมาเป็นเมืองปัตตานี ตอนที่ 1


แหลมมลายูในสมัยโบราณถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมและอารยธรรมอินเดีย เนื่องจากมีชาวอินเดียมาค้าขาย เมืองแรก ทีชาวอินเดียสร้างขึ้นคือเมืองลังกาสุกะ เมื่อ พ.ศ.๗๔๓ มีการค้นพบเทวสถานฮินดูและเครื่องใช้แบบฮินดู ชาวอินเดียพวกนี้ข้ามฟากมาจากเกาะชวา จึงเรียกแหลมนี้ว่า มลายูซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต แปลว่าข้ามฟากจนถึง ในแหลมนี้ยังมีชนชาติดั้งเดิมอยู่ก่อนคือชาวเล พวกซาไกเซกัง และโอรังลาโวด ชนเชื้อไทยจากสุวรรณภูมิได้เข้าไปอยู่ในดินแดนนี้ตอน พ.ศ.๕๐๐ ในปี พ.ศ.๗๖๓ อาณาจักรฟูนันของชาวอินเดียได้ครอบครองแหลมมลายู และเสื่อมอำนาจไปใน พ.ศ.๘๐๐ ชนเชื้อไทยจึงได้ตั้งอาณาจักรตามพรลังค์ กินดินแดนตลอดแหลม มีศูนย์กลางที่นครศรีธรรมราช

พ.ศ.๑๒๒๘ บนเกาะสุมาตราเกิดอาณาจักรศรีวิชัยขึ้น ตามพรลังค์ก็ตกอยู่ใต้อำนาจศรีวิชัย พอ พ.ศ.๑๔xx ศรีวิชัยเสื่อมอำนาจ ในเกาะชวาและสุมาตรามีอาณาจักรมัชปาหิตมามีอำนาจแทน ในสมัยก่อนดินแดนแถบนี้นับถือศาสนาพุทธหรือพราหมณ์ ศาสนาอิสลามได้เข้ามาบริเวณนี้เป็นครั้งแรกราว พุทธศตวรรษที่ ๑๙ มะละกาเป็นเมืองแรกที่เปลี่ยนไปถืออิสลามในราว พ.ศ.๑๙๘๙

ตามประวัติศาสตร์ดินแดนไทยในแหลมมลายู เป็นของประเทศไทยตั้งแต่สุโขทัยเป็นราชธานี และรวมนครศรีธรรมราชและดินแดนตลอดทั้งแหลมตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๓๔ สำหรับเมืองปัตตานี ถูกสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. ๒๑๐๔ มีเจ้าเมืองคนแรกชื่อ พยาตนกรู อันตารา เริ่มแรกไม่ได้เป็นอิสลาม แต่เมื่อป่วยหนักหมออิสลามจากเปอร์เซียมารักษาโดยมีเงื่อนไขว่าถ้าหายต้องหันมาเป็นมุสลิม ปรากฏว่าหาย คนปัตตานีจึงเป็นมุสลิมตามเจ้าเมืองเมื่อประมาณ ๔๐๐ กว่าปีมานี้ ก่อนหน้านี้คนบริเวณปัตตานีคือคนเชื้อไทยที่อพยพมาจากสุวรรณภูมิและนับถือศาสนาพุทธ ดังนั้นทั้งคนพุทธ อิสลาม ในบริเวณนั้นจึงมีเชื้อชาติที่มาจากคนสุวรรณภูมิด้วยกัน

จดหมายเหตุจีน สมัยราชวงศ์เหลียง ชื่อเหลียงชู ได้บันทึกเรื่องราวอันน่าสนใจของเมืองนี้ไว้ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ความว่า "รัฐลัง-ยา-สิ่ว ตั้งขึ้นเมื่อศตวรรษที่ ๗ อยู่ในบริเวณทะเลใต้ ห่างจากเมืองท่ากวางตุ้ง ๒๔,๐๐๐ ลี้ อาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับประเทศผัน-ผัน หรือ พาน-พาน ประเทศนี้มีความกว้างยาว วัดด้วยการเดินเท้าจากทิศใต้ไปจรดทิศเหนือ ใช้เวลาเดินทางกว่า ๒๐ วัน และหากเดิน จากทิศ ตะวันออก ไปถึงตะวันตกก็จะใช้เวลา ๓๐ วัน

ตัวเมืองลังกาสุกะ มีกำแพงล้อมรอบ มีประตู และหอคอยคู่ พระราชา มีพระนามว่า ภคทัต (ยอเจียต้าตัว) เวลาจะเสด็จไปที่แห่งใด จะทรงช้างเป็นพาหนะ มีฉัตรสีขาวกั้น มีขบวนแห่ประกอบด้วยกลอง และทิวนำหน้า แวดล้อมด้วยทหารที่มีหน้าตาดุร้าย คอยระแวดระวังพระองค์
ชาวเมืองนิยมไว้ผมยาว ผู้หญิงแต่งกายด้วยผ้าฝ้าย (Ki-Pei) มีเครื่องเพชรพลอยประดับตบแต่งกาย ผู้ชายมีผ้าพาดไหล่ทั้งสอง มีเชือกทอง คาดต่างเข็มขัด และสวมตุ้มหูทองรูปวงกลม

เมื่อปีที่สิบแห่งศักราชเถียนเจียน (ตรงกับปี พ.ศ.๑๐๕๘) กษัตริย์เมืองลังกาสุกะส่งราชฑูตชื่อ อชิตะ (อาเช่อตัว) ไปเฝ้าจักรพรรดิ์จีน ทางจีน ให้ช่างเขียน เขียนภาพราชฑูตไว้เป็นที่ระลึก คุณสังข์ พัธโนทัย ได้ให้คำบรรยายภาพว่า

" เป็นคนหัวหยิกหยองน่ากลัว นุ่งผ้าโจงกระเบน ห่มสไบเฉียง สวมกำไลที่ข้อเท้าทั้งสอง ผิวค่อนข้างดำ"( เมืองโบราณ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๒ ประจำเดือน ธันวาคม ๒๕๒๑ - มกราคม ๒๕๒๒)ข้อความนี้ไปพ้องกับคำพังเพยของชาวปักษ์ใต้บทหนึ่งที่กล่าวว่า "ผมหยิก หน้าก้อ คอปล้อง น่องทู่" ซึ่งถือกันว่าเป็นลักษณะของผู้ชายที่ไม่น่าไว้วางใจนักสำหรับท่านหญิง รูปลักษณะของฑูตลังกาสุกะนี้ เราจะพบเห็น ได้จาก ชาวชนบท ในภูมิภาคทักษิณของประเทศไทยได้ทั่วๆ ไป
หนังสือ เป่ยซู และสุยซู ของจีน ชี้ที่ตั้งของเมืองลังกาสุกะไว้ในแวดวงที่กว้างขวางพอสมควร เช่นเดียวกับหนังสือ The Golden Khersonese ของศาสตราจารย์ปอล วิตลีย์ และหนังสือ Negara Kertagama ของพระปัญจ นักบวชในนิกายศิวะพุทธ แห่งราชอาณาจักรมัชฌปาหิต ว่าอยู่ในแคว้นปัตตานี ในอดีต (ซึ่งครอบคลุมไปถึงพื้นที่ของรัฐตรังกานู และรัฐกลันตัน)

หนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวันวลิต (ฟอนฟลีต) ชาวฮอลันดา ซึ่งเคยมาตรวจกิจการค้าของบริษัทดัชอิสต์อินเดีย ที่ตั้งอยู่ในเมือง ปัตตานี และได้เข้าเฝ้าเจรจาปัญหาบ้านเมืองกับเจ้าหญิงอูงูรานีแห่งเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.๒๑๘๕ ระบุที่ตั้ง เมืองลังกาสุกะ ว่าอยู่ห่างจากเมืองปัตตานีสมัยนั้น (บ้านกรือเซะ อำเภอเมืองปัตตานี) ไปทางตอนเหนือของลำน้ำปัตตานี คือบริเวณ เมืองโบราณ ที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี

อาณาจักรลังกาสุกะปรากฏโดดเด่นขึ้นมาโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ทำให้เราเรียกแหล่งที่ค้นพบโบราณสถานและโบราณวัตถุมากมายในบริเวณนี้ว่า แหล่งโบราณคดียะรัง
แหล่งโบราณคดียะรังมีความสำคัญขึ้นเพราะการขุดค้นหลายครั้งทั้งโดยนักโบราณคดีภายในประเทศและต่างประเทศ พบว่าที่นี่อาจจะเป็นที่ตั้งของอาณาจักรลังกาสุกะที่ปรากฏในเอกสารและจดหมายเหตุทั้งของจีน อินเดีย ลังกา ชวา มลายู ชาติยุโรป ฯลฯ ซึ่งในหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมามีความรุ่งเรืองอย่างมากในระหว่าง พ.ศ.700-1400 เชื่อว่าความเจริญของราชอาณาจักรลังกาสุกะอยู่ ณ บริเวณที่ปัจจุบันคือ บ้านวัดชื่อที่ชาวมุสลิมเรียกหลังจากพบซากโบราณสถาน เทวรูป และพระพุทธรูปจำนวนมากในบริเวณนั้น จึงเข้าใจว่าเป็นวัดเก่า ที่เรียก บ้านวัดคงจะเพราะชาวมุสลิมทั่วไปเรียกวัดว่า วะโดยทับศัพท์ภาษาไทยแต่ออกเสียงเป็นมลายูถิ่น ภูมิสถานนามว่า บ้านวัดจึงถูกตั้งอย่างเป็นทางการ

จากการสำรวจแหล่งโบราณคดีที่ขุดพบอยู่ในพื้นที่ประมาณ 9 ตารางกิโลเมตรมีอยู่ 3 แห่ง คือที่บ้านวัด บ้านจาเละ และบ้านประแว เรียงจากอายุเก่าที่สุดไปหาน้อย พบเมืองที่มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูขนาด 500x550 เมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีกำแพงล้อมโดยรอบสามชั้น และมีซากโบราณสถาน สถูปเจดีย์ เทวรูป พระพุทธรูป เศษภาชนะมากมายอยู่ในเนินดินบริเวณกว้าง โบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่พบมีทั้งสถูปจำลองดินดิบและดินเผาจำนวนมาก มีลักษณะนูนต่ำรูปท้าวกุเวรพุทธเจ้าประทับนั่ง ขนาบด้วยสถูปจำลองทั้งสองข้าง และสถูปจำลองที่ฐานด้านล่างจารึกคาถาเยธัมมา
นอกจากนี้ยังพบเศษภาชนะดินเผา เครื่องถ้วยเปอร์เซีย เครื่องถ้วยเซลาดอนซึ่งร่วมสมัยกับศิลปะทวาราวดี เฉพาะซากสถูปเจดีย์ขนาดใหญ่พบถึง 33 แห่ง รวมทั้งสถูปจำลองทรงฉัตรวลีเป็นอันมาก [3] ซึ่งน่าจะเป็นที่มาของชื่อ โกตามะห์ลิฆัย” (Kota Mahligai) ซึ่งแปลว่า นครแห่งสถูปอันเป็นชื่อที่รู้จักกันในชั้นหลัง คือหลังจากที่อาณาจักรนี้ถูกทำลายลงในราว พ.ศ.1573-74 โดยกองทัพของพระเจ้าราเชนทร์โจฬะแห่งอินเดียใต้

ชื่อ ลังกาสุกะปรากฏในเอกสารของอินเดียว่า อีลังกา โสกา” (Ilangka Soka) ในภาษามลายูคำว่า อลังกะห์ซูกะ” (Alangkah suka) ประกอบด้วยคำว่า อลังกะห์กับคำว่า ซูกะ” (suka, sukha/สุขะ) แปลรวมกันว่า ช่างมีความสุขความรื่นรมย์เสียนี่กระไรหรือแปลเอาความได้ว่า ลังกาสุกะนี้เป็นบ้านเมืองที่มีแต่ความสุขความรื่นรมย์

ม้าฮวน ชาวจีนผู้มีประสบการณ์จาการเดินทางไปกับกองเรือรบของ นายพลเซ็งโห ผู้รับสนอง พระบรมราช โองการ จากพระเจ้า จักรพรรดิ์ ราชวงศ์หงวน ให้นำคณะฑูตออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ ด้านเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร กองเรือของนายพลเซ็งโห ออกเดินทางจากจีน ตระเวนไปตามเมืองต่างๆ จนถึงอ่าวเปอร์เซีย และชายฝั่งอาฟริกาตะวันออก ผ่านอ่าวไทยถึง ๗ ครั้ง เคยแวะเยี่ยม ราชอาณาจักร สยาม ๒ ครั้ง ในปี พ.ศ.๑๙๕๐ เพื่อทำการไกล่เกลี่ยกรณีที่ปรเมศวร เจ้าเมืองมะละกา ร้องเรียนต่อพระเจ้าจักรพรรดิ์จีน กล่าวหาว่า ไทยยกกองทัพไปรุกรานเมืองมะละกา เหตุเพราะมะละกาทำการแข็งเมือง ไม่ยอมสงเครื่องราชบรรณาการ ในบันทึก ของม้าฮวน ได้กล่าวถึงเมืองลังกาสุกะว่า รัฐนี้ตั้งอยู่บนแหลมมลายูตรงเส้นรุ้งที่ ๖ .๕๔"- เหนือ

หนังสืออักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๔ (ภาคผนวก) ก็ว่า จังหวัดปัตตานีตั้งอยู่ตรงเส้นละติจูด ๐๖-๕๑'-๓๐" เหนือ เช่นเดียวกับที่ม้าฮวนได้บันทึกไว้
หวัง-ต้า-หยวน เขียนไว้ในหนังสือ เต๋า-อี-ชีห์-ยูเลห์ ว่า ชาวเมืองลังยาเสี่ยว "ทั้งชายหญิงไว้ผมมวย ใช้ผ้าฝ้ายนุ่งห่ม และรู้จักการ ต้มน้ำทะเล เพื่อให้ได้เกลือมาใช้"

การทำนาเกลือ เพื่อใช้บริโภค และจำหน่ายในจังหวัดภาคใต้ มีอยู่ที่เมืองปัตตานี ทำเป็นสินค้าจำหน่ายมาแต่ต้นสมัยอยุธยาแล้ว ประวัติเมือง ปัตตานี ได้กล่าวถึงการทำนาเกลือไว้ชัดเจนในสมัยนางพญาฮียาและนางพญาบีรูปกครองเมืองปัตตานี แต่ไม่ปรากฏว่า เมืองใกล้เคียง ทำนาเกลือเป็น ทั้งที่บ้านเมืองเหล่านั้นก็อยู่ใกล้ทะเล มีสภาพที่ดินคล้ายคลึงกัน พอที่จะใช้ในการทำนาเกลือได้ ดังปรากฏ หลักฐาน ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ความตอนหนึ่ง เมื่อพระเจ้าอู่ทองตรัสถามพญาศรีธรรมโศกราชว่า "เมืองของท่านขัดสิ่งใดเล่า แลพญาศรีธรรมโศกราชว่า ขัดแต่เกลือ อาณาประชาราษฎร์ไม่รู้จักทำกิน และพระเจ้าอู่ทองว่า จงให้สำเภาเข้ามาจะจัดให้ออกไป"
การที่พงศาวดารจีนบันทึกไว้ว่า ชาวเมืองหลังยะเสี่ยว (หรือลังกาสุกะ) รู้จักการทำนาเกลือใช้ และไม่มีหัวเมืองใด ในภาคใต้ รู้จักการทำนาเกลือ นอกจากชาวเมืองปัตตานีเท่านั้น ย่อมเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า เมืองปัตตานีน่าจะเป็นที่ตั้งเมืองลังกาสุกะได้


ที่มา : หนังสือ ประวัติเมืองลังกาสุกะ - เมืองปัตตานี /ผู้เขียน อนันต์ วัฒนานิกร และ สถาบันข่าวอิศรา

สธ.บริการตรวจสุขภาพและฉีดวัคซีนให้ชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์


ศ.คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในทุกๆ ปีจะมีผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามจากทั่วโลก 2-3 ล้านคน เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ในจำนวนนี้เป็นชาวไทยมุสลิม จำนวน 13,000 คน และเพื่อดูแลสุขภาพชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปแสวงบุญ กระทรวงสาธารณสุขจึงเตรียมพร้อมในทุกระยะ ตั้งแต่ระยะก่อนเดินทาง ได้ให้บริการตรวจสุขภาพ ประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพโดยหน่วยบริการสาธารณสุขและทีมหมอครอบครัว การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วประเทศฟรี และออกเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนป้องกันโรคหรือเล่มเหลือง ระยะเดินทางได้จัดส่งหน่วยแพทย์ฮัจย์ไทย ( Thai hajj medical office) ประกอบด้วยทีมสหวิชาชีพในการดูแลสุขภาพ จำนวน 3 ทีม รวมทั้งสิ้น 42 คน ในการให้ความช่วยเหลือดูแลรักษาระหว่างการประกอบพิธีฮัจย์ และระยะหลังกลับจากประกอบพิธีฮัจย์ มีระบบการเฝ้าระวังติดตามโรคติดต่อสำคัญ เช่น โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง เป็นระยะเวลา 1 เดือนทุกคน เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงทีถ้ามีปัญหาสุขภาพ โดยผู้ประสานงานฮัจย์ 54 จังหวัด อสม.ฮัจย์ และทีมหมอครอบครัว จะเป็นผู้ประสานงานระดับพื้นที่ สร้างเครือข่ายผู้ประสานงานฮัจย์หรือมิสเตอร์ฮัจย์ ทั้งในระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับประเทศ

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ได้จัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ที่จะเดินทางไปแสวงบุญ การเตรียมตัว การปฏิบัติตัวก่อนขึ้นเครื่องบิน การดูแลสุขภาพระหว่างประกอบศาสนกิจ และหลังเดินทางกลับ การให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรค การให้บริการตรวจสุขภาพก่อนเดินทางไปแสวงบุญ สำหรับชาวไทยมุสลิมสามารถรับบริการฉีดวัคซีนก่อนเดินทางได้ที่สถาบันบำราศนราดูร จังหวัดนนทบุรี ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศท่าเรือกรุงเทพ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย กรุงเทพฯ โรงพยาบาลนวมินทร์9 กรุงเทพฯ โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ถนนราชวิถี กรุงเทพฯ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 และ12 หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

27 มีนาคม 2560

“บังแอ”ตำนานตำรวจกล้าแห่ง”แม่ลาน” เพื่อนนักรบแดนใต้



เป็นข่าวหน้า 1 คอลัมน์เล็กๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ หลัง 2 โจรใต้ ลอบกัดย่องยิงหัวอดีต รอง สวป.สภ.แม่ลาน ขณะเดินไปละหมาดเสียชีวิต ซ้ำยังฉกปืน 9 มม. คู่กายของผู้เสียชีวิตไปด้วย เหตุเกิดที่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี เมื่อเที่ยงครึ่งวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมา

คนทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องและติดตามข่าวสารชายแดนใต้ คงแค่ดูข่าวเผินๆ เป็นเรื่องปกติขิงการก่อเหตุในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแทบจะไม่อ่านรายละเอียด เพราะข่าวโจรใต้ลอบกัดนั้นมีรายวัน ใหญ่บ้างเล็กบ้างตามสถานการณ์ สร้างความหดหู่ใจต่อพฤติกรรมดังกล่าว
แต่สำหรับครอบครัว ญาติมิตรของ ร.ต.ท.สรายุทธ บากา อดีต รองสวป.สภ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เหยื่อโจรใต้วัย 63 ปี ผู้นี้ นี่คือการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของพวกเขา โดยเฉพาะสหายเลือดสีกากี ที่โพสต์รำลึกถึงวีรกรรมเมื่อครั้งยังร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ ขออนุญาตนำมาเผยแพร่เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้กล้าสีกากีผู้นี้


ขอพื้นที่ไว้อาลัยแด่ บังแอ-ร.ต.ท.สรายุทธ บากา เพื่อนนักรบผู้เสียสละตัวจริง บังแอเคยเป็นทั้งสเกาท์หน้า นักข่าว พาพวกเราเข้าตี ปะทะ สร้างความสูญเสียแก่ฝ่ายตรงข้ามมานับครั้งไม่ถ้วน
28 เมษายน 2547 ครั้งที่เกิดการปะทะที่กรือเซะ และหลายจุดรวม 10 แห่ง บังแอแต่ผู้เดียวดวลปืนกับฝ่ายตรงข้ามที่เข้าตี สภ.แม่ลาน สามารถสังหารฝ่ายตรงข้ามได้ 5 คน จนรักษาสถานที่ราชการเอาไว้ได้ บังแอ ไม่ได้รับการเลื่อนยศเป็นกรณีพิเศษตามที่พวกเราขอไป คำตอบที่ได้รับคือ ไม่มีระเบียบกำหนดไว้

เคยหยอก บังแอว่า ถ้าวันนั้นบังโดนยิงตายก็คงได้เลื่อนยศไปแล้ว บังแอตอบว่า ผมขออยู่เลี้ยงหลานดีกว่า....

บังแอแม้จะระวังตัวมาตลอด เพราะเป็นที่หมายของฝ่ายตรงข้ามมานาน สุดท้ายก็ไปตามวิถีของนักรบผู้กล้า ขอคารวะเพื่อนนักรบที่รักด้วยใจ ขอให้เพื่อนได้พบกับพระเจ้าและพบกับความสุขสงบชั่วนิรันดร์



ขอร่วมสดุดี บังแอนักรบผู้กล้าแห่ง สภ. แม่ลาน อีก 1 ในวีรบุรุษสีกากีที่ฝังร่างฝากชื่อไว้ในปลายแดนด้ามขวานครับ...

26 มีนาคม 2560

เรื่องเล่าตำนาน “อาแวสะดอ” จอมโจรแห่งเทือกเขาบูโด



โจรอาแวสะดอ (คำ สะดอ หรือ สีดอ ในความหมายเดียวกับช้างตัวผู้ไม่มีงา) เกิดก่อนสงครามโลกเล็กน้อย นายตำรวจที่มาปราบจนสำเร็จ คือ ขุนพันธ์รักษุราชเดชขุนโจรผู้นี้มีพฤติกรรมปล้นฆ่าไม่มาก ส่วนมากจะเป็นการข่มขู่เคยเข้ามาขอทรัพย์สินที่บ้านเขาน้อย ครั้งนั้นได้ปืนลูกซองยาวของนายราม ชัยโป ไป 1 กระบอก
ก่อนที่จะถูกขุนพันธรักษุ์ราชเดชปราบปรามราบคาบในวันที่ 8 มิถุนายน 2481 ขุนพันธรักษ์ราชเดช ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นนายร้อยตำรวจเอกและในปีเดียวกันนั้นขุนพันธ์รักษ์ราชเดช ได้ทำงานใหญ่ที่ท้าทายต่อความตายเมื่อต้องไปเผชิญหน้ากับจอมโจรชาวมุสลิมนามว่าอะแวสะดอ ตาและเป็นหัวหน้าโจรที่ยิ่งใหญ่มาก นอกจากจะเป็นผู้ร้ายปล้นฆ่าแล้วยังเป็นโจรที่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองเรื่องแบ่งแยกดินแดนสี่จังหวัดภาคใต้อีกด้วยซึ่งมีนายทุนอิทธิพลหนุนหลังอยู่ลับๆ
ภาพตัวจริงของ อาแวสะดอถูกจับล่ามโซ่บนศาลาข้างทุ่งนาตรงข้ามเป็นสนามฟุตบอลตาดีกา          บ้านจำปากอใกล้สะพานลอย 
มีเรื่องเล่าว่าอะแวสะดอ ตาและนี่ เวลาเกิดคุ้มคลั่งของขึ้นเขาจะให้ลูกน้องหลายๆคนนำปืนมารุมยิงตัวเขาเองหลายๆ นัด จอมโจรอะแวสะดอ ตาและ เป็นคนบ้านกาเยาะมาตี อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งอยู่แถบเชิงเขาบูโด

ตามบันทึกของทางราชการกล่าวไว้ว่าประวัติของ นายอะแวสะดอ ตาและ นั้นเขาเป็นลูกชายของ โต๊ะยีชาวอิสลามที่มีผู้คนนับหน้าถือตากันอย่างกว้างขวางบ้านเดิมของเขาอยู่ที่หมู่บ้านโล๊ะบากู ตำบลจำปากอ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เป็นผู้ร้ายปล้นทรัพย์ ตำรวจจับได้แล้วเคยส่งไปกักขังไว้ที่อำเภอสัตหีบจังหวัดชลบุรีพร้อมกับนายสะมะแอลูกน้องคนสนิท ต่อมาทั้งสองคนหลบหนีกลับมาได้
เมื่อ อะแวสะดอ ตาและ กับ สะมะแอ หนีกลับไปยังนราธิวาสแล้ว จึงมีการรวมสมัครพรรคพวกได้จำนวน 9 คน เที่ยวออกปล้นสะดมตามหมู่บ้านต่างๆ ไม่ว่างเว้น และทุกครั้งที่ อะแวสะดอ เที่ยวออกปล้น มันจงใจปล้นแต่คนไทยพุทธเท่านั้น เมื่อปล้นแล้วจะต้องฆ่าเจ้าของบ้านตายด้วยวิธีการที่เหี้ยมโหดพิสดารทุกรายไป
สำหรับกรรมวิธีการฆ่าซึ่งพิสดารเหี้ยมโหดนั้น อะแวสะดอ ตาและ จะจิกผมแล้วใช้กริช ซึ่งเป็นอาวุธประจำตัวของมันทิ่มแทงที่คอ จากนั้นมันจะกดกริชหมุนคม คว้านเอาเนื้อหรือหลอดลมออกมา ในการฆ่าบางราย อะแวสะดอ ตาและ จะคว้านไส้เหยื่อออกมาด้วย นับว่าเป็นพฤติกรรมที่ทารุณโหดร้ายผิดปกติธรรมดา เป็นที่หวาดกลัวแก่ชาวไทยโดยทั่วไป เป็นอาชญากรก่อคดีสะท้านสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง
กริชประจำตัวของอะแวสะดอ ตาและ
ประกอบกับมีวิชาไสยศาสตร์ป้องกัน สามารถรูดโซ่ รูดกุญแจออกได้อย่างง่ายดาย มีผ้าประเจียด ตับมนุษย์เคราทองแดง และช้องหมูป่าเป็นเครื่องลางของขลัง ดังนั้นทางราชการจึงจำเป็นต้องตั้งกองปราบปรามพิเศษขึ้น โดยมีผู้บังคับการภูธรเขตเป็นหัวหน้า พร้อมด้วยหม่อมทวีวงศ์ ถวัลศักดิ์ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในขณะนั้น และมีหลวงจำรูญ ณ สงขลาปลัดจังหวัดเป็นผู้ช่วย กองปราบพิเศษดังกล่าวนี้ ยังได้เกณฑ์เอาตำรวจสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เอาเข้าไปในกองกำลังปราบปรามดังกล่าว จัดตั้งกองอำนวยการขึ้นแบ่งหน่วยปราบปรามออกเป็น 3 หน่วย คือ
หน่วยที่ 1 แต่งตั้ง ร.ต.อ.ขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นหัวหน้า ใช้กำลังตำรวจกองตรวจสงขลาเป็นลูกน้อง เพราะขณะนั้น ขุนพันธรักษ์ราชเดช อยู่ที่สงขลาให้นายสิบพื้นเมืองเป็นล่าม
หน่วยที่ 2 แต่งตั้ง ร.ต.อ.ปรี สุศีลวรณ์เป็นหัวหน้า ใช้ตำรวจกองพิเศษปัตตานี
หน่วยที่ 3 แต่งตั้งร.ต.ท.หม่อมราชวงศ์สะอ้าน ลัดดาวัลย์ เป็นหัวหน้า ใช้ตำรวจนราธิวาส และมีร.ต.ท.เขตต์ บุณยพิพัฒน์ เป็นเสมียนอำนวยการ
การทำงานครั้งนั้นให้หน่วยกองปราบเสือตั้งหน่วยเอาเอง มีการกำหนดจุดต่างๆ เอาไว้ 3 จุด คือ เขาแกและบาตุตะโมง และวัดหัวเขา
วันที่ปะทะกันเป็นคืนวันพุธ เวลาตี 4 ครึ่ง นกป่าสัตว์ป่าก็ตื่นร้องเป็นแถวจากด้านตะวันออก ขณะนั้นทุกคนได้ยินเสียงกิ่งไม้หักใกล้เข้ามาและได้ยินเสียงพูดพึมพำแต่ยังไม่เห็นตัว ร.ต.ท.หม่อมราชวงศ์สะอ้านก็พูดออกมา เป็นภาษามลายูว่า อีตูสะปอ อินี่สเตอรูมันตอบว่า กุดเด
เท่านั้นเองฝ่ายขุนพันธรักษ์ราชเดชเล็งปืนยิงตรงแสกหน้าอะแวสะดอ ตาและ ระยะ 2 ศอก อะแวสะดอ ตาและ กลับยืนอยู่เฉย ไม่ตายและไม่ล้ม ขุนพันธ์ฯจึงกระหน่ำยิงอีก ในที่สุดมันก็ล้มลง พรรคพวกของมันก็หนีกระเจิงขึ้นเขาไป ขุนพันธ์คิดว่ามันตายแน่ๆ จึงสั่งให้ตำรวจ 2 นายที่ชื่อลพและเงินเฝ้าศพไว้ และที่เหลือให้ตามไล่ล่าพรรคพวกโจร แต่พอวิ่งขึ้นเขาไปได้หน่อยเดียว ก็เกิดเสียงยิงปะทะข้างล่าง ตรงจุดที่ให้ตำรวจ 2 นายเฝ้าศพไว้ คงมีพรรคพวกของมันเลี้ยวเข้าไปช่วย
ม.ร.ว.สะอ้านซึ่งห่างจากที่เกิดเหตุสัก 8 วา จึงเล็งยิงโจรอะแวสะดอ ตาและไปอีก ตำรวจอีก 2 คนช่วยยิงสกัดเข้าไปแต่ไม่เป็นผล กระหน่ำยิงจนลูกปืนหมดทุกคน ทั้งที่คนยิง แน่ใจว่าได้ยิงถูกอะแวสะดอ ตาและ หลายนัดแล้ว มันน่าจะตาย แต่ยังเดินยังยืนได้ ขุนพันธ์ฯตัดสินใจวิ่งเข้าไปชกต่อยอะแวสะดอ ตาและ ทุกคนกรูเข้าไปชกวงใน ไม่รู้ว่าหมัดใครต่อหมัดใคร เพราะท้องฟ้ายังไม่สว่างดี
ผลที่สุดอะแวสะดอ ตาและ หมดเรี่ยวแรง กว่าทำให้สภาพจากเสือร้ายกลายเป็นแมว ต้องใช้เวลากว่า 30 นาที เจ้าหน้าที่ตำรวจจับโจรอะแวสะดอใส่กุญแจมือไว้ พอฟ้าสว่าง เจ้าหน้าที่พยายามแกะเครื่องรางที่เอว ของอะแวสะดอ ตาและ ที่มันผูกกับลวดแข็งเอาไว้ แกะอย่างไรก็ไม่ออก อะแวสะดอ ตาและ คงรำคาญ เลยกระชากจนลวดขาดแล้วปาเข้าป่าไป ไปตามเก็บมาได้จึงถามว่านี่อะไร อะแวสะดอ ตาและ บอกว่าบาบีช้องหมูป่า
ช้องหมูป่า
พอไปถึงสถานีตำรวจ ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำการสอบสวน อะแวสะดอ ตาและ ผู้นี้คายหัวกระสุนทั้ง 9 นัด ลงกลางโต๊ะสอบสวน ที่น่าทึ่งตอนที่ยิงปืนเข้าไป อะแวสะดอ ตาและ เอากระสุนเข้าปากไป 9 เม็ดแล้วอมไว้ ปากไม่มีรอยแตก ฟันไม่หัก ส่วนที่ถูกหน้าผากก็เหมือนถูกเล็บขีด  ส่วนที่ยิงตามตัวไม่ถูกเลยเสื้อผ้าก็ไม่เป็นรอยขาด ภายหลังถูกจับกุม เครื่องรางของขลังต่าง ๆ ถูกยึดไว้เป็นหลักฐาน
ทางการตำรวจจับตัว อะแวสะดอ ตาและ ไปที่สถานีตำรวจนราธิวาสขังไว้ 3 วัน มีประชาชนตั้งแต่ปัตตานี ยะลา รัฐกลันตัน แห่พากันไปดูหน้าจอมโจรเจ้าพ่อเทือกเขาบูโด แน่นขนัดโรงพัก ตำรวจเห็นว่าขืนขังไว้ที่นี่คงไม่ดีแน่ จึงนำตัวอะแวสะดอ ตาและ ไปฝากขัง ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส อะแวสะดอ ตาและ ก็เป็นเช่นขุนโจรชื่อดังในอดีตของทางภาคใต้ ที่ถือว่าการตายด้วยฝีมือเจ้าหน้าตำรวจ เป็นการตายที่ไร้เกียรติอย่างยิ่งสำหรับจอมโจรอย่างเขา ดังนั้นไม่เกิน 10 วัน อะแวสะดอ ตาและ ตัดสินใจกินยาพิษฆ่าตัวตาย

ความสามารถพิเศษที่ปราบปราม จอมโจรอะแวสะดอ ตาและ ได้สำเร็จ ครั้งนั้นนับว่าเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ ของขุนพันธรักษ์ราชเดช ทำให้ความสงบสุขกลับคืนมา จนได้รับการยกย่องจากคนไทยพุทธและคนไทยมุสลิม ที่ต่างพากันตั้งฉายาให้ว่า รายอกะจิ" นอกจากนี้ขุนพันธ์ฯยังได้รับพระราชทานรางวัล จากเจ้าเมืองรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ส่งมีดพกเล่มหนึ่ง มาให้ ซึ่ง ท่านขุนพันธ์ ถือเป็นเกียรติอย่างสูงในชีวิต.